ดีเอสไอเปิดเกมรุก! ใช้ “AI” วิเคราะห์จับพิรุธ “ฮั้วเลือก สว.67” สแกนพฤติกรรม-โพย จากกล้องวงจรปิด 14 TB

กรุงเทพฯ – กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ยกระดับการสอบสวนคดีฮั้วเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.67) โดยนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยวิเคราะห์หลักฐานสำคัญอย่างภาพจากกล้องวงจรปิดขนาดใหญ่ถึง 14 เทเลไบต์ เพื่อค้นหาความผิดปกติและพฤติกรรมที่ส่อไปในทางทุจริตการเลือก สว. ระดับประเทศที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา

วานนี้ (25 เม.ย. 68) คณะผู้บริหารดีเอสไอ นำโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ท.อนุรักษ์ โรจนนิรันดร์กิจ รองอธิบดีฯ, พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ โฆษกดีเอสไอ และนายระวี อักษรศิริ ผอ.กองคดีการฟอกเงินทางอาญา ได้เข้าสังเกตการณ์และจำลองเหตุการณ์ ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรัม ฮอลล์ 4 เมืองทองธานี สถานที่คัดเลือก สว. ระดับประเทศ เพื่อประกอบการสอบสวนคดีพิเศษฟอกเงิน สว. (คดีพิเศษที่ 24/2568) และสนับสนุนการไต่สวนของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)

พล.ต.ท.คำรบ ปัญญาแก้ว อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะผู้นำกลุ่ม สว.สำรอง และพยานสำคัญในคดี ได้บรรยายเหตุการณ์ในวันเลือก สว. ระดับประเทศ โดยชี้จุดและลำดับขั้นตอนต่างๆ พร้อมระบุถึงความผิดปกติที่พบเห็น เช่น การนับคะแนนที่หมายเลขเดิมซ้ำกันหลายครั้ง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการเลือกไขว้รอบบ่าย ที่ผู้สมัครหลายคนนำ ‘โพย’ ขึ้นมาลอกอย่างเปิดเผย แม้เจ้าหน้าที่จะห้ามนำเอกสาร สว.3 เข้าคูหา แต่สถานการณ์กลับโกลาหลยิ่งขึ้นเมื่อมีการแจกเอกสารฉบับใหม่ ทำให้หลายคนเร่งลอกโพยลงในเอกสารใหม่นี้

พล.ต.ท.คำรบ ยืนยันว่าเห็นการลอกโพยชัดเจน และสิ่งที่น่าสงสัยที่สุดคือการนับคะแนนที่เบอร์เซ็ตเดียวกันซ้ำๆ กันหลายครั้ง นอกจากนี้ยังมีการพบ ‘โพย’ ในห้องน้ำ ซึ่งเมื่อนำไปเปรียบเทียบกับผลคะแนนที่ออกมา พบว่าผู้ที่ได้คะแนนอันดับหนึ่งของแต่ละกลุ่มตรงกับโพยที่พบทุกประการ

ด้าน พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีดีเอสไอ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการทำงานว่า ขณะนี้ดีเอสไอได้รับไฟล์ภาพกล้องวงจรปิดทั้งหมด 15 ม้วน ความยาวม้วนละ 6 ชั่วโมง รวม 14 เทเลไบต์ จาก กกต. ซึ่งบันทึกภาพตั้งแต่เริ่มจนจบกระบวนการเลือก อย่างไรก็ตาม ยังตรวจสอบภาพไม่ครบทั้งหมด แต่เบื้องต้นก็พบความผิดปกติบางอย่าง เช่น การขานหมายเลขเซ็ตเดิม ลำดับเดิม ซ้ำๆ กันหลายครั้ง

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวเน้นย้ำถึงการนำระบบ AI มาช่วยวิเคราะห์ข้อมูลขนาดมหาศาลนี้ โดย AI จะทำหน้าที่จับพฤติกรรมบุคคล วิเคราะห์การรวมตัวกันในพื้นที่ จุดที่อาจมีการทิ้งโพย หรือจุดเข้าออก รวมถึงวิเคราะห์รูปแบบการลงคะแนนที่ผิดปกติ เช่น การกาเบอร์เรียงลำดับซ้ำๆ กันในหลายๆ บัตร ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางคณิตศาสตร์สามารถคำนวณได้ว่าความน่าจะเป็นที่จะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นโดยบังเอิญมีน้อยเพียงใด

อธิบดีดีเอสไอระบุว่า การใช้ AI เป็นวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่มีความหนักแน่น น่าเชื่อถือ เมื่อนำไปประกอบกับพยานบุคคล พยานเอกสาร พยานวัตถุ (เช่น โพย) และพยานด้านการเงิน (การโอนเงิน) จะยิ่งเพิ่มน้ำหนักในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทั้งหมด

ดีเอสไอได้รับคดีพิเศษที่เกี่ยวข้องกับการเลือก สว. แล้ว 2 คดี คือ คดีฟอกเงิน และล่าสุดรับคดีฐานความผิด ‘อั้งยี่’ เป็นคดีพิเศษด้วย เนื่องจากมีผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษว่ามีกลุ่มบุคคลรวมตัวกันตั้งเป็นคณะ ปกปิดวิธีการเพื่อทำการบล็อกโหวต ซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดฐานอั้งยี่ ซึ่งการสอบสวนจะครอบคลุมกว้างขึ้น ทั้งการวิเคราะห์จากกล้องวงจรปิด พยานบุคคล การชี้จุดเกิดเหตุ และหลักฐานอื่นๆ เช่น การเข้าพักโรงแรมเดียวกัน การเดินทางมาด้วยกัน หรือการสวมใส่เสื้อผ้าสีเดียวกัน ซึ่งทั้งหมดจะนำมาพิจารณาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ในส่วนความร่วมมือกับ กกต. นั้น ดีเอสไอได้เข้าร่วมในคณะอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนของ กกต. ด้วย หากพยานหลักฐานบ่งชี้ว่าการเลือกไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม กกต. จะเป็นผู้ดำเนินการตามกฎหมายเลือกตั้ง แต่ในส่วนคดีอาญา เช่น ฟอกเงินหรืออั้งยี่ ดีเอสไอจะเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินคดี ซึ่งต้องใช้เวลาในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ตัวบุคคลผู้กระทำผิดให้ชัดเจน

พ.ต.ต.ยุทธนา กล่าวทิ้งท้ายว่า การสอบสวนของดีเอสไอมุ่งเน้นความโปร่งใส ตรงไปตรงมา โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์จากระบบ AI และหลักฐานอื่นประกอบกัน เพื่อให้การพิสูจน์ข้อเท็จจริงมีความน่าเชื่อถือสูงสุด ส่วนกรณีที่อาจมีเจ้าหน้าที่ กกต. เกี่ยวข้อง หรือกรณีมีรายงานการไม่ให้ความร่วมมือจากหน่วยงานอื่น ดีเอสไอจะพิจารณาตรวจสอบต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *