ดีเอสไอพบเครือข่าย ‘อั้งยี่ฟอกเงิน’ คดีฮั้ว สว. พุ่ง 1,200 ราย เตรียมเรียกสอบกลุ่มแรกปลาย พ.ค. นี้
ดีเอสไอพบเครือข่าย ‘อั้งยี่ฟอกเงิน’ คดีฮั้ว สว. พุ่ง 1,200 ราย เตรียมเรียกสอบกลุ่มแรกปลาย พ.ค. นี้
ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2568 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินคดีที่เกี่ยวข้องกับการสมคบคิดหรือ"ฮั้ว" การเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยเน้นย้ำในส่วนความรับผิดชอบของดีเอสไอที่มุ่งไปที่ประเด็นความผิดฐาน "อั้งยี่" และ "ฟอกเงิน"
พ.ต.ต.วรณัน ชี้แจงถึงบทบาทของเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ 3 ราย ที่ได้เข้าร่วมเป็นอนุกรรมการสืบสวนและไต่สวนร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่า เป็นการปฏิบัติงานภายใต้ภารกิจของ กกต. โดยดีเอสไอรับผิดชอบการส่งหนังสือเชิญและร่วมสอบปากคำในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งข้อมูลและข้อซักถามที่ได้จากการทำงานร่วมกับ กกต. โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการได้มาซึ่ง สว. ที่ไม่บริสุทธิ์เที่ยงธรรม จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการสืบสวนคดีอั้งยี่และฟอกเงินของดีเอสไอเอง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ทั้ง 3 นาย ก็อยู่ในคณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษที่ 24/2568 ที่ดูแลคดีนี้อยู่
โฆษกดีเอสไอ อธิบายเพิ่มเติมว่า การกระทำที่เป็น "อั้งยี่" คือ การรวมตัวของกลุ่มบุคคลที่มีการปกปิดวิธีการเพื่อกระทำสิ่งผิดกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้เชื่อมโยงกับการได้มาซึ่ง สว. ที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย และเมื่อมีการกระทำอั้งยี่เกิดขึ้น หากมี "เส้นทางการเงิน" หรือทรัพย์สินที่เกี่ยวข้อง ก็จะเข้าข่ายความผิดฐาน "ฟอกเงิน" ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยดีเอสไอจะตรวจสอบธุรกรรมทางการเงินและนิติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั้งก่อน ระหว่าง และหลังการกระทำผิดอั้งยี่ ตั้งแต่ขั้นตอนการเลือก สว. ระดับอำเภอ จังหวัด จนถึงระดับประเทศ หากพบการใช้เงินสนับสนุนความผิดมูลฐาน ก็จะถูกพิจารณาดำเนินคดีฟอกเงิน
สำหรับความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวน พ.ต.ต.วรณัน เปิดเผยว่า ปัจจุบันดีเอสไอได้ตรวจสอบพบกลุ่มเป้าหมายเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับ "เส้นทางการเงิน" หรือเป็นบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยในขบวนการนี้ ประมาณ 1,200 รายทั่วประเทศ โดยทั้งหมดมาจากพยานหลักฐานเรื่องเส้นทางการเงิน ซึ่งพนักงานสอบสวนมีเหตุอันควรสงสัยว่าบุคคลเหล่านี้ควรเข้ามาชี้แจง อย่างไรก็ตาม ตัวเลข 1,200 รายนี้ เป็นเพียงกลุ่มเป้าหมายในการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ท้ายที่สุดแล้ว อาจมีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่จะถูกพิจารณาว่ามีความผิดตามกฎหมายฟอกเงิน เพราะต้องพิจารณาเป็นรายบุคคลไป ขณะนี้ได้มีการสอบสวนปากคำกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องไปแล้วประมาณ 70 ราย ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินการ
เมื่อถูกถามถึงกระแสข่าวที่ว่าดีเอสไอจะทยอยออกหมายเรียกผู้ต้องหากลุ่มแรกในคดีอั้งยี่และฟอกเงินภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ต้องให้เวลาพนักงานสอบสวนดำเนินการก่อน แต่ก็เป็นไปได้ที่จะมีการพิจารณาแจ้งข้อกล่าวหาและออกหมายเรียกกลุ่มแรกภายในช่วงดังกล่าว หากมีพยานหลักฐานเพียงพอตามหลักประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
โฆษกดีเอสไอ ย้ำว่า การทำงานของดีเอสไอแตกต่างจาก กกต. โดย กกต. จะเน้นประเด็นเรื่องการได้มาซึ่ง สว. ที่ไม่สุจริตและนำไปสู่การตัดสิทธิ์ ส่วนดีเอสไอจะเน้นกระบวนการทางคดีอาญา โดยต้องมีพยานหลักฐานตามสมควรจึงจะแจ้งข้อกล่าวหาได้ คดีในความรับผิดชอบของดีเอสไอมี 2 ข้อกล่าวหาหลักคือ การกระทำเข้าข่าย "อั้งยี่" หรือไม่ และ "เส้นทางการเงิน" ที่พบอยู่ภายใต้ความผิดมูลฐานอั้งยี่หรือไม่ จึงจะเข้าเรื่อง "ฟอกเงิน"
ในส่วนของการประสานงาน ดีเอสไออาจประสานกับสำนักงาน ปปง. ในเรื่องมาตรการทางแพ่งเกี่ยวกับทรัพย์สิน แต่การพิสูจน์หาผู้รับโทษทางอาญาเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ พร้อมยืนยันได้มีการส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และปลัดกระทรวงมหาดไทย เพื่อชี้แจงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของดีเอสไอ และเชื่อมั่นว่าจะได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ทั่วประเทศ