วันเมย์เดย์ 2025: ลูกจ้างทำงานบ้านเดินขบวน เรียกร้องสิทธิเข้าประกันสังคม ม.33 วอนเลิกเรียก ‘คนใช้’
กรุงเทพฯ – เนื่องในวันแรงงานแห่งชาติ 1 พฤษภาคม 2568 เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย พร้อมด้วยกลุ่มผู้ใช้แรงงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ ได้ร่วมเดินขบวนในกิจกรรม ‘May Day 2025 วันกรรมกรสากล’ จากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มุ่งหน้าสู่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล หนึ่งในข้อเรียกร้องสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาคือ การผลักดันให้ลูกจ้างทำงานบ้านได้เข้าสู่ระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 เช่นเดียวกับผู้ใช้แรงงานในระบบอื่นๆ พร้อมเรียกร้องให้สังคมและสื่อหยุดใช้คำว่า “คนใช้” แต่ให้เรียกด้วยความเคารพในฐานะ “ผู้ช่วยในบ้าน”
บรรยากาศการเดินขบวนในวันเมย์เดย์ 2025 เป็นไปอย่างคึกคัก มีผู้ใช้แรงงานจากสมาพันธ์และสหภาพต่างๆ หลั่งไหลเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ช่วงเช้า อาทิ สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย (สสรท.), สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ (สรส.), สหภาพแรงงานชิ้นส่วนยานยนต์และโลหะแห่งประเทศไทย, สมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) และอื่นๆ อีกมากมาย
น.ส.กัญญภา ประสพสุข ประธานเครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านในประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้ ตนพร้อมด้วยสมาชิกอีกกว่า 20 คน ได้มาร่วมเดินขบวนเพื่อทวงสิทธิที่ควรได้รับ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรียกร้องมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปีแล้ว โดยปัญหาหลักที่ลูกจ้างทำงานบ้านต้องเผชิญคือ การขาดระบบคุ้มครองทางสังคม เวลาถูกเลิกจ้างก็มักไม่ได้รับเงินชดเชย ไม่มีสิทธิลาหยุดพักผ่อนประจำปี หรือลาป่วย ต้องทำงานหนักตั้งแต่เช้าตรู่ถึงกลางคืน บางรายทำงานตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 4 ทุ่ม
“ปัญหาส่วนใหญ่คือพวกเราไม่ได้รับสิทธิการคุ้มครอง เวลาเจ็บป่วยต้องซื้อยาทานเอง เมื่ออายุมากขึ้นหรือถูกเลิกจ้างก็ไม่มีเงินชดเชย ทำให้ว่างงาน เสียเปรียบในหลายๆ ด้าน บางคนไม่มีวันหยุด บางคนอายุมากขึ้น นายจ้างไม่จ้างต่อ ไม่มีเงินเลี้ยงชีพ ต้องกู้หนี้ยืมสิน” น.ส.กัญญภา กล่าว และย้ำว่า
“กลุ่มลูกจ้างแม่บ้านก็เป็นผู้ใช้แรงงาน มีนายจ้าง แต่ทำไมถึงไม่มีประกันสังคม หรือมีสิทธิการคุ้มครองอื่นๆ จึงต้องการผลักดันให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม มาตรา 33 เพื่อให้ได้รับสิทธิประโยชน์และการคุ้มครอง”
นอกจากประเด็นด้านสิทธิประโยชน์แล้ว เครือข่ายลูกจ้างทำงานบ้านยังได้รณรงค์ให้สังคมและสื่อเลิกใช้คำว่า “คนใช้” หรือ “คนรับใช้” ซึ่งเป็นคำที่ดูถูกศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และล้าสมัย ควรหันมาใช้คำว่า “ลูกจ้างทำงานบ้าน” หรือ “แรงงาน/ผู้ช่วยในบ้าน” แทน ซึ่งเป็นคำที่สะท้อนถึงบทบาทหน้าที่และสร้างความภาคภูมิใจให้กับผู้ประกอบอาชีพนี้ได้มากกว่า
น.ส.กัญญภา แสดงความคาดหวังว่า การมาร่วมแสดงตัวตนและเรียกร้องในวันนี้ จะช่วยกระตุ้นให้สังคมภายนอกตื่นตัวและยอมรับว่าถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงภาครัฐควรให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการผลักดันกฎหมายหรือมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้ลูกจ้างทำงานบ้านได้รับการคุ้มครองและสิทธิที่เท่าเทียมกับผู้ใช้แรงงานกลุ่มอื่นๆ
การเดินขบวนของผู้ใช้แรงงานได้เริ่มเคลื่อนตัวจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปยังทำเนียบรัฐบาลในช่วงสาย เพื่อนำข้อเรียกร้องต่างๆ เข้ายื่นต่อรัฐบาลต่อไป