กสก. ผนึก กพท. เปิดหลักสูตร ‘นักบินโดรนเกษตร’ ขั้นพื้นฐาน หนุนเทคโนโลยีลดต้นทุน

กรมส่งเสริมการเกษตร (กสก.) จับมือ สถาบันการบินพลเรือน (กพท.) เดินหน้ายกระดับศักยภาพภาคเกษตรไทย เปิดหลักสูตรฝึกอบรม ‘ผู้บังคับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ในระยะสายตา (โดรนเพื่อการเกษตรขั้นพื้นฐาน)’ ให้แก่เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรทั่วประเทศ เตรียมพร้อมนำเทคโนโลยีโดรนไปประยุกต์ใช้ในภาคการเกษตร ช่วยเกษตรกรประหยัดเวลา ลดแรงงาน และก้าวสู่ยุคเกษตรแม่นยำอย่างแท้จริง

นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร เปิดเผยว่า จากกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล อากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการพัฒนาภาคเกษตร โดยเฉพาะ ‘โดรนเพื่อการเกษตร’ ที่เป็นเครื่องมือเปลี่ยนเกม ช่วยเกษตรกรไทยก้าวเข้าสู่ยุคเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อมูลจาก Fortune Business Insights ชี้ให้เห็นถึงศักยภาพของตลาดโดรนเชิงพาณิชย์ทั่วโลกที่มีมูลค่าสูงถึงประมาณ 4.6 แสนล้านบาทในปี 2567 และคาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้น (CAGR) ที่ 20.8% สำหรับ ‘โดรนเพื่อการเกษตร’ ทั่วโลกเองก็มีมูลค่าตลาดราว 1.6 แสนล้านบาท และคาดการณ์อัตราการเติบโตสูงถึง 18.5% ต่อปีในอนาคต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเฉพาะในประเทศที่มีการเกษตรก้าวหน้า

โดรนเพื่อการเกษตรมีประโยชน์หลากหลาย ทั้งการช่วยลดข้อจำกัดในการทำงานกับพืชที่มีความสูง การให้ปุ๋ยทางใบที่พืชสามารถดูดซึมได้รวดเร็ว ลดการฟุ้งกระจายของสารเคมีที่อาจเป็นอันตรายต่อเกษตรกร นอกจากนี้ ยังช่วยประหยัดเวลาและแรงงานได้อย่างมหาศาล จากเดิมที่ต้องใช้คนงาน 10-20 คนต่อพื้นที่ในการปฏิบัติงานบางประเภท สามารถลดเหลือเพียง 1-2 คน ด้วยการใช้โดรน

ในประเทศไทย โดรนเพื่อการเกษตรเริ่มมีบทบาทมากขึ้นตั้งแต่ปี 2563 และถูกนำมาใช้ในการทำการเกษตรแม่นยำ เช่น การรดน้ำ การให้ฮอร์โมน หรือปุ๋ยทางใบ อย่างไรก็ตาม นายพีรพันธ์ยอมรับว่า ราคาโดรนที่ยังค่อนข้างสูง ทำให้เกษตรกรรายย่อยยังไม่สามารถประเมินจุดคุ้มทุนและเข้าถึงเทคโนโลยีนี้ได้ง่ายนัก ส่วนใหญ่จึงเลือกใช้บริการจากผู้ให้บริการโดรนแทน

เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินนโยบายระบบส่งเสริมเกษตรแบบ ‘แปลงใหญ่’ โดยส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกัน เพื่อการผลิตและการบริหารจัดการร่วมกัน ทำให้สามารถเข้าถึงปัจจัยการผลิตคุณภาพดี ลดต้นทุน และเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต รวมถึงการนำเทคโนโลยีอย่างโดรนมาประยุกต์ใช้ ปัจจุบันมีเกษตรกรแปลงใหญ่ที่นำโดรนมาใช้แล้วจำนวน 546 แปลง คิดเป็นเกษตรกรกว่า 34,000 ราย ซึ่งตั้งเป้าหมายว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตในกลุ่มนี้ได้กว่า 1,100 ล้านบาท

การเข้าถึงเทคโนโลยีในภาคเกษตรโดยรวมยังคงน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ และมีความเหลื่อมล้ำด้านความพร้อม ศักยภาพ ความรู้ ทุนทรัพย์ และการถือครองสิทธิที่ดินในหมู่เกษตรกรรายย่อย

ด้วยเหตุนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรจึงร่วมกับ สถาบันการบินพลเรือน จัดทำหลักสูตรฝึกอบรม ‘ผู้บังคับอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน ในระยะสายตา (โดรนเพื่อการเกษตรขั้นพื้นฐาน)’ ขึ้น เพื่อให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรมีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะการใช้งานโดรนอย่างถูกต้องตามระเบียบข้อบังคับของ กพท. โดยหลักสูตรนี้ไม่เพียงแต่สอนการบังคับโดรน แต่ยังครอบคลุมถึงการคำนวณเงินลงทุนเบื้องต้น การวิเคราะห์การเจริญเติบโตของพืช เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถนำความรู้เหล่านี้ไปถ่ายทอดและเป็นตัวช่วยให้เกษตรกรนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่และคุ้มค่าที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *