ด่วน! รัฐบาลชะลอแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ‘จุลพันธ์’ ยันไม่ทิ้ง แต่ต้องใช้ 1.57 แสนล้านบาท พลิกฟื้นเศรษฐกิจ เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน วอนรอเวลาเหมาะสม ค่อยทบทวนเงินดิจิทัล
กรุงเทพฯ – นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยล่าสุดภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงมติเห็นชอบแผนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้กรอบวงเงิน 1.57 แสนล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังเป็นผู้เสนอ โดยยืนยันว่า การพิจารณาโครงการต่างๆ ที่จะใช้งบประมาณส่วนนี้ จะต้องดำเนินการด้วยความพร้อมและพิจารณาอย่างรอบคอบ
นายจุลพันธ์ ระบุว่า จากการประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3 ปี 2568 นี้ อาจมีผลกระทบที่ค่อนข้างมาก รัฐบาลจึงได้วางแผนนำงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาทดังกล่าวมาใช้ในช่วงไตรมาส 3 โดยงบประมาณนี้จะต้องเป็นงบผูกพันก่อนวันที่ 30 กันยายน 2568 พร้อมทั้งจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อติดตามและเร่งรัดการดำเนินโครงการ
“รัฐบาลเชื่อว่ากรอบระยะเวลามีเพียงพอ แต่สิ่งที่สำคัญคือโครงการที่จะเข้ามาพิจารณา เม็ดเงินจะต้องลงไปถึงชุมชน และต้องเป็นโครงการที่ช่วยปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจได้อย่างแท้จริง เม็ดเงินเหล่านี้จะเกิดประโยชน์ในวงกว้าง หมุนเวียนทางเศรษฐกิจ และคอยประคับประคองสถานการณ์ให้ผ่านช่วงมรสุมนี้ไปได้” นายจุลพันธ์ กล่าว
สำหรับประเด็นที่หลายคนให้ความสนใจคือ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต นายจุลพันธ์ กล่าวว่า โครงการนี้จะต้องพิจารณาจากสถานการณ์เป็นรายไตรมาส และดูปัจจัยความเปลี่ยนแปลงต่างๆ เช่น ผลกระทบจากการเจรจาระหว่างไทยกับสหรัฐฯ หรือปัญหาสงครามการค้ากับประเทศคู่ค้า หากวันหนึ่งรัฐบาลมีความพร้อม ก็จะนำโครงการนี้กลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้ง
ส่วนเม็ดเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการเงินดิจิทัลนั้น นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องที่จะต้องไปดูในวันข้างหน้าและพิจารณาในขั้นถัดไป แต่วันนี้รัฐบาลมองถึงความจำเป็นเร่งด่วนก่อน โดยการดึงงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาท มาใช้ในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น การบริหารจัดการน้ำ การคมนาคม การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชน ซึ่งเป็นการวางรากฐานในระยะยาว รวมถึงการเข้าไปช่วยเหลือภาคการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ เพื่อป้องกันความเสี่ยงเรื่องการว่างงาน ซึ่งสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปทำให้รัฐบาลต้องเรียงลำดับความสำคัญใหม่
นายจุลพันธ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะสั้น รัฐบาลจะสามารถอัดฉีดงบประมาณ 1.57 แสนล้านบาทเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและลงไปยังกลุ่มประชาชนต่างๆ ได้ โดยมีเวลาอีกประมาณ 2-3 สัปดาห์ ในการเสนอโครงการทั้งหมดออกมาเป็นหมวดหมู่เพื่อนำไปลงทุน ซึ่งจะเห็นความชัดเจนว่ารัฐบาลจะใช้งบประมาณก้อนนี้อย่างไรในระยะต้น
ขณะที่ในระยะกลาง คือ งบประมาณปี 2569 รวมถึงปี 2570 เป็นต้นไป รัฐบาลจะต้องวางแผนระยะยาวในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ
สำหรับกรณีการกู้เงินวงเงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ นายจุลพันธ์ ยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องนี้ และหากมีการนำมาใช้จริง ก็ไม่สามารถใช้ได้ทั้งหมดในครั้งเดียว ต้องเป็นงวดๆ โดยช่วงนี้จะมุ่งเน้นไปที่งบประมาณ 1.57 แสนล้านบาทก่อน
ในส่วนของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” ซึ่งยังมีบริการภาครัฐมากมายให้กับประชาชน แอปพลิเคชันนี้เป็นตัวเลือกหนึ่งที่รัฐบาลพิจารณาอยู่ตลอดในการเติมเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การใช้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในอนาคต หรือโครงการด้านการท่องเที่ยว
นายจุลพันธ์ ย้ำว่า แอปฯ ทางรัฐ เป็นช่องทางกลางที่ประชาชนจะได้รับบริการจากภาครัฐ และเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ซึ่งรัฐบาลทำต่อเนื่อง การพัฒนาระบบนี้ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับดิจิทัลวอลเล็ตมาตั้งแต่ต้น แต่เป็นการพัฒนาของ DGA กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อสร้างระบบเพย์เมนต์กลาง ซึ่งรัฐบาลได้นำมาพิจารณาใช้กับวอลเล็ต
“ตอนนี้เมื่อดิจิทัลวอลเล็ตชะลออยู่ แอปฯ ทางรัฐก็ยังเดินหน้า ไม่ได้หยุดทำ สุดท้ายยังเป็นแพลตฟอร์มกลางที่รัฐบาลและประชาชนใช้ประโยชน์ได้กับทุกโครงการ หากมีโครงการเติมเงินเพิ่มเติม รัฐบาลเติมเงินเข้าไป หรือผ่านบัตรสวัสดิการ แอปฯ ทางรัฐก็จะเป็นเครื่องมือในการรับแลกจ่ายของประชาชนได้ต่อ ไม่ได้สูญเสียอะไร” นายจุลพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย