น่าห่วง! กรมควบคุมโรคชี้ ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงพุ่ง 14 ล้านคน เกินครึ่งของคนที่ลงทะเบียนยังคุมไม่ได้ เสี่ยงสูงอันตรายถึงชีวิต

กรมควบคุมโรคเผยสถานการณ์น่าห่วง พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป ป่วยความดันโลหิตสูงถึง 14 ล้านคน ขณะที่ผู้ที่ลงทะเบียนรักษา 7.4 ล้านคน เกินครึ่งยังควบคุมระดับความดันไม่ได้ เสี่ยงเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงชีวิต อธิบดีกรมควบคุมโรคย้ำความสำคัญของการวัดและควบคุมความดัน รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดเค็ม ออกกำลังกาย ป้องกันอันตรายจากโรคความดันโลหิตสูง

วันที่ 16 พฤษภาคม 2568 นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงสถานการณ์โรคความดันโลหิตสูงในประเทศไทย เนื่องในโอกาสวันความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี

นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าวว่า ในปีนี้ สมาพันธ์ความดันโลหิตสูงโลก (World Hypertension League) ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์คือ “Measure Your Blood Pressure Accurately, Control It, Live Longer” หรือ “วัดความดันอย่างไร สูงเกินไปคุมให้ดี ช่วยยืดชีวีให้ยืนยาว” โดยเน้นย้ำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของการวัดความดันโลหิตอย่างสม่ำเสมอ และควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อป้องกันการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ

“จากรายงานการสำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกาย ครั้งที่ 6 (พ.ศ.2562 – 2563) พบว่า ความชุกโรคความดันโลหิตสูงของประชาชนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 25.4 หรือประมาณ 14 ล้านคน จากร้อยละ 24.7 หรือประมาณ 13 ล้านคน ในปี 2557 และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้อมูลล่าสุดจากระบบรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 พบว่า มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่ขึ้นทะเบียนรักษาเพียง 7.4 ล้านคน และที่น่าเป็นห่วงคือ ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาแล้ว แต่ยังไม่สามารถควบคุมระดับความดันโลหิตได้ มีมากถึง 3.5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนเกินกว่าครึ่งของผู้ที่ลงทะเบียนรักษา” นายแพทย์ภาณุมาศ กล่าว

นายแพทย์ภาณุมาศ ย้ำว่า แม้โรคความดันโลหิตสูงมักจะไม่มีอาการในระยะเริ่มต้น แต่หากปล่อยให้ความดันโลหิตสูงอยู่นานโดยไม่ได้รับการควบคุม จะส่งผลเสียต่อหลอดเลือดและอวัยวะสำคัญต่างๆ นำไปสู่การเกิดโรคแทรกซ้อนร้ายแรง เช่น โรคหลอดเลือดสมอง (อัมพฤกษ์ อัมพาต) โรคหัวใจขาดเลือด และโรคไตวายเรื้อรัง ซึ่งโรคเหล่านี้เป็นสาเหตุสำคัญของการพิการและเสียชีวิตในที่สุด

ด้าน นายแพทย์สุทัศน์ โชตนะพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค และนายแพทย์กฤษฎา หาญบรรเจิด ผู้อำนวยการกองโรคไม่ติดต่อ ได้ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า การควบคุมความดันโลหิตให้ได้ตามเป้าหมายมีความสำคัญอย่างยิ่ง ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรรับประทานยาตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และที่สำคัญคือ ไม่ควรหยุดยาเอง

นอกจากการใช้ยา การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นวิธีการรักษาหลักที่ประหยัดและมีประสิทธิภาพสูง ได้แก่

  • ควบคุมน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ (ดัชนีมวลกาย 18.5 – 22.9 กก./ตร.ม.)
  • รับประทานอาหารครบ 5 หมู่ เน้นผักและผลไม้ ลดอาหารไขมันสูง โดยใช้สูตร 2:1:1 (ผัก 2 ส่วน : ข้าว 1 ส่วน : เนื้อสัตว์ 1 ส่วน)
  • ลดการบริโภคโซเดียม/รสเค็ม ประชาชนทั่วไปไม่ควรเกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่วนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรจำกัดอย่างเข้มงวดไม่เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ระดับปานกลาง เช่น เดินเร็ว วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน สะสมอย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
  • งดการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • งดสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีควันบุหรี่

นายแพทย์กฤษฎา ย้ำว่า การวัดความดันโลหิตด้วยตนเองอย่างถูกต้องเป็นสิ่งสำคัญในการ “รู้เลขเสี่ยง เลี่ยงโรคไม่ติดต่อ” โดย

  • ความดันโลหิตที่เหมาะสม: น้อยกว่า 120/80 มิลลิเมตรปรอท
  • ระดับเสี่ยง: ตั้งแต่ 130/80 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ควรเริ่มปรับพฤติกรรม
  • เป็นโรคความดันโลหิตสูง: ตั้งแต่ 140/90 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษา
  • ความดันโลหิตสูงอันตราย: ตั้งแต่ 180/110 มิลลิเมตรปรอทขึ้นไป ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

ประชาชนอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี หรือคัดกรองโรคความดันโลหิตสูงได้ฟรี ณ สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน เพียงใช้บัตรประชาชน การคัดกรองช่วยค้นหาผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมก่อนป่วยเป็นโรค

ทางด้าน ภก.เลิศชาย เลิศวุฒิ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวเสริมว่า อย. ได้ร่วมรณรงค์ให้ประชาชนใส่ใจการเลือกรับประทานอาหาร โดยลดการบริโภคโซเดียม พร้อมสนับสนุนให้สังเกตเลข อย. อ่านฉลากโภชนาการ และมองหาสัญลักษณ์ “โภชนาการทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)” ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ปรับสูตรให้มีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียมที่เหมาะสม

ภก.เลิศชาย เน้นย้ำว่า การควบคุมความดันโลหิตต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ ควบคู่กับการปรับพฤติกรรม อย่าหลงเชื่อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณลดหรือรักษาความดันโลหิตสูงได้ หากมีข้อสงสัยหรือพบผลิตภัณฑ์ผิดกฎหมาย แจ้งได้ที่สายด่วน อย. 1556 หรือช่องทางอื่น ๆ ของ อย.

ผู้สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโรคความดันโลหิตสูงและการป้องกัน ได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *