อพท. เร่งสำรวจพื้นที่สร้าง ‘กระเช้าภูกระดึง’ คาดเสนอ รมว.ท่องเที่ยวฯ พ.ค.นี้

เลย – ผู้บริหาร อพท. นำคณะเจ้าหน้าที่และผู้เกี่ยวข้องลงพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูกระดึง เร่งสำรวจจุดก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าและสถานีต้นทาง-ปลายทาง พร้อมหารือหน่วยงานท้องถิ่นและ สส. ในพื้นที่ เพื่อขับเคลื่อนโครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึง ก่อนเตรียมนำเสนอความคืบหน้าต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาภายในเดือนพฤษภาคมนี้

เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม 2568 ณ อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. พร้อมด้วย นายชูวิทย์ มิตรชอบ รองผู้อำนวยการ อพท. และคณะเจ้าหน้าที่ รวมถึงนายประครอง สายจันทร์ สำนักบริหารยุทธศาสตร์ และนายธรรมนูญ ภาคธูป ผู้จัดการ อพท.เลย ได้ลงพื้นที่เพื่อประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและสำรวจพื้นที่สำหรับการก่อสร้างโครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง

การลงพื้นที่ในครั้งนี้มุ่งเน้นการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการก่อสร้างแนวสายกระเช้าไฟฟ้า รวมถึงการหาตำแหน่งที่ตั้งของสถานีต้นทางและสถานีปลายทาง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของโครงการ นอกจากนี้ ยังได้สำรวจพื้นที่ที่คาดว่าจะพัฒนาเป็นศูนย์เปลี่ยนถ่ายการจราจร เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวและลดความแออัดในพื้นที่

การประชุมและสำรวจพื้นที่ในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากนายประยูร อรัญรุท รองผู้ว่าราชการจังหวัดเลย เป็นประธาน โดยมีนายศรัณย์ ทิมสุวรรณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) เขต 3 จังหวัดเลย จากพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง การหารือร่วมกันมีวัตถุประสงค์เพื่อเร่งรัดกระบวนการออกแบบก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้า และเตรียมการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ในพื้นที่ให้เป็นไปตามขั้นตอน

นายศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการ อพท. ได้กล่าวถึงความสำคัญของโครงการนี้ โดยระบุว่า ภายหลังจากที่ตนเองเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของพื้นที่จังหวัดเลย ซึ่งเป็นพื้นที่จุดหมายสำคัญของรัฐบาล และ อพท. มีสำนักงานพื้นที่เลยที่รับผิดชอบอยู่ โครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึงนี้เป็นหนึ่งในแผนงานสำคัญที่ได้มีการหารือกันมานานเกือบ 20 ปี ตามมติคณะรัฐมนตรี เพื่อสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกและเป็นจุดดึงดูดการท่องเที่ยวที่สำคัญ นอกเหนือจากธรรมชาติที่งดงามและวัฒนธรรมที่แข็งแกร่ง

ผู้อำนวยการ อพท. ย้ำว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้มีเป้าหมายใหญ่ในการรวบรวมข้อมูล รับฟังข้อกังวล ข้อสงสัย ข้อสังเกต และข้อแนะนำต่างๆ จากทุกฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าแม้จะกระทบกับสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ในแต่ละจุดของเสา แต่ก็ต้องพิจารณาถึงภาพรวมทั้งหมด ทั้งการจัดการการจราจรบริเวณด้านล่าง การอำนวยความสะดวก การจัดการขยะ การป้องกันไฟป่า และที่สำคัญคือ ประโยชน์ที่ชาวบ้านและชุมชนท้องถิ่นจะได้รับจากโครงการนี้

ข้อมูลที่ได้จากการลงพื้นที่และรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ จะถูกนำกลับเข้าไปหารือในคณะกรรมการของ อพท. จากนั้นจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งมีกำหนดมอบนโยบายและร่วมแสดงความคิดเห็นในวันที่ 21 พฤษภาคมนี้ และท่านรัฐมนตรีจะมีการแถลงรายละเอียดทั้งหมดของโครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึงอย่างชัดเจน ทั้งในส่วนของไทม์ไลน์ช่วงเวลาการศึกษา การก่อสร้าง การพัฒนาธุรกิจ และการขับเคลื่อนร่วมกับชุมชนชาวบ้านต่อไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *