แพทย์เตือนอันตราย ‘นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมง’ เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยและสมองเสื่อม รักษาไม่หาย

ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช แพทย์เชี่ยวชาญด้านสมองและระบบประสาท เตือนภัยร้ายจากการ “นอนน้อย” เป็นประจำ ชี้การนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืนเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพิ่มความเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร และก่อให้เกิดโรคสมองเสื่อมที่รักษาไม่หาย

เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2568 ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช หรือ “อจ.หมอสุรัตน์” ได้โพสต์ข้อความผ่านทางแฟนเพจเฟซบุ๊ก “สาระสมองกับ อจ.หมอสุรัตน์” เพื่อให้ความรู้และเตือนภัยประชาชนถึงผลกระทบที่ร้ายแรงของการนอนหลับไม่เพียงพอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน

นพ.สุรัตน์ เล่าถึงเหตุการณ์ที่ได้พูดคุยกับแพทย์รุ่นน้องที่มีอาการตาคล้ำเป็นหมีแพนด้า ซึ่งแพทย์รุ่นน้องคนดังกล่าวเผยว่านอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืนเป็นประจำ แต่ยังรู้สึกภูมิใจและบอกว่ายังไหว นพ.สุรัตน์จึงได้เตือนไปว่า การนอนน้อยระดับนี้นาน ๆ เป็นเดือนหรือหลาย ๆ เดือน หากเกิน 6 เดือนขึ้นไป อาจนำไปสู่การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้

“การนอนคือ 1 ใน 3 ของชีวิต อย่าคิดว่านอนน้อยแล้วตื่นมาทำงานไหวคือคนแกร่ง มันคิดหินผาที่กำลังผุกร่อนต่างหาก” นพ.สุรัตน์กล่าวย้ำ

ท่านยังได้อธิบายถึงข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่สนับสนุนคำเตือนดังกล่าว โดยระบุว่า การนอนหลับพักผ่อนน้อยในระดับนี้ ส่งผลให้สมองทำงานผิดปกติ ซึ่งเทียบเท่าได้กับภาวะมึนเมาแอลกอฮอล์ จากการทดลองโดย Williamson & Feyer พบว่า การนอนน้อยกว่า 4 ชั่วโมง เทียบเท่ากับการมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงถึง 0.1% นอกจากนี้ ภูมิคุ้มกันของร่างกายยังลดลงอย่างมาก การนอนเพียง 4 ชั่วโมงต่อคืนติดต่อกันเพียง 1 สัปดาห์ สามารถลดการตอบสนองของเซลล์นักฆ่าตามธรรมชาติ (NK cell) ลงได้ถึง 70%

ไม่เพียงเท่านั้น การนอนน้อยยังเพิ่มการอักเสบในระดับเซลล์ให้สูงขึ้น เห็นได้จากระดับไซโตไคน์ (cytokines) เช่น IL-6 และ CRP ที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งการอักเสบเหล่านี้มีความเชื่อมโยงกับภาวะหัวใจและโรคเรื้อรังต่าง ๆ ในระยะยาว

นพ.สุรัตน์ชี้ว่า ผลกระทบจากการนอนน้อยนำไปสู่ “การตายผ่อนส่ง” ซึ่งมีข้อมูลการศึกษาในระยะยาวที่ยืนยันความเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตอย่างชัดเจน การศึกษาในกลุ่มประชากรกว่า 1 ล้านคน พบว่า ผู้ที่นอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อคืน มีความเสี่ยงเสียชีวิตจากทุกสาเหตุสูงกว่ากลุ่มที่นอน 7–8 ชั่วโมง ถึง 15–20%

ที่น่ากังวลอย่างยิ่งคือ การนอนน้อยยังเพิ่มโอกาสในการเกิดภาวะสมองเสื่อม (Dementia) อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากส่งผลให้มีการสะสมของโปรตีน β-amyloid ในสมองมากขึ้น ซึ่งเมื่อโรคสมองเสื่อมก่อตัวขึ้นแล้ว เป็นเรื่องที่โชคร้ายอย่างยิ่ง เพราะยังไม่มีวิธีรักษาให้หายขาดได้

นพ.สุรัตน์เข้าใจว่าหลายคนอาจเผชิญแรงกดดันเรื่องการทำงานที่ต้องทำจนดึกจนไม่มีเวลาพักผ่อน แต่ท่านเน้นย้ำว่า จำเป็นต้องหาทางปรับเปลี่ยนรูปแบบงานหรือชีวิต การใช้ร่างกายทำงานหนักหาเงินโดยไม่ดูแลสุขภาพ “ไม่ต่างอะไรกับการตัดไตขาย” แม้บางคนจะรู้สึกว่ายังทนได้และคิดว่าค่อยไปดูแลสุขภาพในภายหลัง แต่ท่านชวนให้ลองนึกว่า หากเป็นลูกหลานหรือคนที่เรารัก เราจะยอมให้พวกเขานอนน้อยแบบนี้หรือไม่ หากคำตอบคือ “ไม่” แสดงว่าร่างกายของเราเองก็ต้องการการดูแลและรักตัวเองเช่นเดียวกัน.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *