CPF ปัน ‘น้ำปุ๋ย’ สู้ภัยแล้ง! ช่วยเกษตรกรลดต้นทุน เพิ่มผลผลิต สร้างรายได้ยั่งยืน

พลิกวิกฤตภัยแล้ง สู่โอกาสเพิ่มผลผลิต ด้วย ‘น้ำปุ๋ย’ จาก CPF

ทุกวันนี้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไปมาก ทั้งฝนที่ไม่ตกตามฤดูกาล และภัยแล้งที่เกิดขึ้นแทบทุกปี ทำให้ธรรมชาติแปรปรวน และส่งผลกระทบหนักต่อเกษตรกร รวมถึงปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร การอุปโภค และการบริโภค หากไม่วางแผนเตรียมรับมือ สถานการณ์อาจแย่ลง การเตรียมวางแผนบริหารจัดการน้ำจึงเป็นทางออกที่ต้องเริ่มทำตั้งแต่ตอนนี้

หนึ่งในไอเดียที่ช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวคือ “โครงการปันน้ำปุ๋ยสู่เกษตรกร” ที่ธุรกิจสุกร CPF ริเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2547 และดำเนินต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรรอบฟาร์มและโรงงานของบริษัท ด้วยการปันน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบผลิตก๊าซชีวภาพ (Biogas) หรือที่เรียกว่า “น้ำปุ๋ย” ให้กับเกษตรกรและชุมชนใช้ในการเพาะปลูกพืชหลากหลายชนิด ทั้งอ้อย ข้าวโพด มันสำปะหลัง ยูคาลิปตัส สวนผลไม้ ผักสวนครัว ฯลฯ ซึ่งช่วยบรรเทาผลกระทบจากจากภาวะฝนทิ้งช่วงและภัยแล้ง ช่วยลดต้นทุนค่าน้ำ ลดการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยปรับปรุงดินไม่ให้เสื่อมโทรม รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรได้เป็นอย่างดี

จาก Waste สู่ Value: การบริหารจัดการน้ำแบบยั่งยืน

โครงการปันน้ำปุ๋ย เกิดจากการที่เกษตรกรรอบข้างฟาร์มและโรงงานของ CPF สังเกตเห็นว่า ภายในสถานประกอบการของบริษัทมีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง เนื่องจาก CPF มีการวางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ ตามหลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) และแนวคิด Waste to Value โดยมีการกักเก็บน้ำฝนในบ่อเก็บน้ำ ส่วนน้ำที่ออกจากระบบ Biogas และผ่านการบำบัดอีกหลายขั้นตอนจนสะอาด และยังมีสารอาหารที่พืชต้องการ จึงนำมาใช้ประโยชน์ภายในฟาร์ม เช่น รดต้นไม้ สนามหญ้า และแปลงผักปลอดภัยที่พนักงานปลูกรับประทานเอง

เมื่อเกษตรกรเห็นความสำเร็จดังกล่าว จึงขอนำน้ำปุ๋ยมาใช้ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรขอรับน้ำปุ๋ยแล้ว 40 ราย ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูก 640 ไร่

เสียงสะท้อนจากเกษตรกรผู้ใช้น้ำปุ๋ย

คุณอินทัน สิงห์ทะ เกษตรกรผู้ปลูกพืชผักสวนครัว ข้าวโพดหวาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากฟาร์มจอมทอง จ.เชียงใหม่ เล่าว่า ก่อนร่วมโครงการฯ พื้นที่แทบปลูกพืชไม่ได้เพราะเป็นดินทราย แต่พอใช้น้ำปุ๋ย ดินดีขึ้นมาก ปลูกพริกและมะเขือได้งามโดยไม่ต้องใส่ปุ๋ยเคมีเลย ข้าวโพดก็ฝักใหญ่ น้ำหนักดี ไม่เคยขาดน้ำ ทำให้สามารถปลูกพืชได้ตลอดทั้งปี และขอขอบคุณ CPF ที่จัดโครงการดีๆ เช่นนี้

ขยายผลสู่คอมเพล็กซ์ไก่ไข่: ปันน้ำ ปันปุ๋ยเปลือกไข่ ปันกากไบโอแก๊ส

ความสำเร็จจากธุรกิจสุกร ถูกต่อยอดไปยังคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ของ CPF โดยในปี 2567 ฟาร์มไก่ไข่ 9 แห่ง ได้จัดโครงการปันน้ำปุ๋ยและกากตะกอนสู่เกษตรกร ช่วยบรรเทาปัญหาภัยแล้งและสร้างความมั่นคงทางแหล่งน้ำให้กับชุมชน ด้วยการส่งน้ำปุ๋ยไปกว่า 480,000 ลูกบาศก์เมตร แก่พื้นที่การเกษตรมากกว่า 3,500 ไร่ สำหรับพืชผลหลากหลายชนิด เช่น ลำไย ปาล์ม ข้าว อ้อย ข้าวโพดหวาน หญ้าเนเปียร์ และพืชผักอื่นๆ

คุณประพันธ์ มาณพ เกษตรกรผู้ใช้น้ำปุ๋ยในการเตรียมดินปลูกข้าว เล่าว่า การใช้น้ำปุ๋ยผสมกับน้ำฝนเป็นการปรับสภาพดินก่อนหว่านข้าว ทำให้ดินคุณภาพดีขึ้น ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นกว่า 50% จากที่เคยได้ 40 ถังต่อไร่ หลังใช้น้ำปุ๋ยในนาดินทรายได้ 70 ถังต่อไร่ ส่วนนาดินเหนียวได้ถึง 80-100 ถังต่อไร่ จากที่เริ่มต้นทดลอง 5 ไร่ในปี 2565 ปัจจุบันได้เพิ่มพื้นที่เป็น 24 ไร่ และวางแผนเพิ่มอีก 18 ไร่ในปีนี้ และยังมีเพื่อนเกษตรกรอีก 3 รายขอใช้น้ำปุ๋ยด้วย

นอกจากน้ำปุ๋ยแล้ว คอมเพล็กซ์ไก่ไข่ยังต่อยอดสู่การปันปุ๋ยเปลือกไข่สู่ชุมชนรอบฟาร์ม โดยในปี 2567 มีผู้ใช้ 4 ราย บนพื้นที่กว่า 20,000 ไร่ รวมปริมาณเปลือกไข่ 86,200 กก. ใช้กับลำไย ข้าว หญ้าเลี้ยงสัตว์ อ้อย และทำฮอร์โมนพืช และยังขยายผลด้วยการนำกากไบโอแก๊ส 3,717,200 กก. แบ่งปันให้ชุมชนใช้กับอ้อย ข้าวโพด ปาล์ม บนพื้นที่ 1,020 ไร่

คุณอารีรัตน์ พูนปาล ประธานศูนย์เรียนรู้ฯ อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี ได้นำเปลือกไข่และเศษไข่แตกจาก CPF มาทำน้ำหมักชีวภาพ พบว่าเป็นปุ๋ยอินทรีย์ชั้นดี ใช้ได้ผลดีกับผลไม้อินทรีย์และพืชผักกลุ่มสมุนไพรอินทรีย์ ทำให้ผลผลิตดกขึ้น โดยเฉพาะกะหล่ำปลีที่ได้กรอบ หวาน และมีอายุเก็บรักษานานขึ้น

ความมุ่งมั่นเพื่อความยั่งยืนและเศรษฐกิจหมุนเวียน

CPF ภูมิใจที่ได้มีส่วนช่วยลดผลกระทบจากภัยแล้งให้กับเกษตรกร ช่วยเพิ่มผลผลิต ลดการใช้ปุ๋ยเคมี และลดต้นทุนค่าน้ำค่าปุ๋ย สะท้อนการให้ความสำคัญกับการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรอย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *