ศาลรัฐธรรมนูญ ตีตกคำร้อง ‘วิโรจน์ นวลแข’ อดีตผู้บริหารกรุงไทย ปมถูกละเมิดสิทธิคดีปล่อยกู้ หลังศาลยกฟ้อง ‘ทักษิณ’

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของนายวิโรจน์ นวลแข อดีตผู้บริหารธนาคารกรุงไทย ที่ขอให้วินิจฉัยว่าถูกละเมิดสิทธิกรณีถูกดำเนินคดีในศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในคดีปล่อยกู้เครือกฤษดามหานคร โดยศาลชี้ว่าประเด็นดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลอื่นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้ว ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ศาลรัฐธรรมนูญได้มีการประชุมเพื่อพิจารณาคำร้องของนายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นผู้ร้อง โดยผู้ร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ว่า การที่สำนักงานอัยการสูงสุดในฐานะผู้ถูกร้อง ได้ยื่นฟ้องผู้ร้องกับพวกรวม 27 คน เป็นจำเลยต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และศาลฎีกาฯ ได้มีคำพิพากษาว่าผู้ร้องมีความผิดตามกฎหมายต่างๆ แต่ต่อมาศาลได้มีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยที่ 1 คือ นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นนักการเมืองเพียงคนเดียวในคดีนี้

นายวิโรจน์ นวลแข อ้างว่า เมื่อศาลยกฟ้องจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแล้ว การที่ตนเองซึ่งไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องตกอยู่ภายใต้กระบวนการพิจารณาของศาลฎีกาฯ ซึ่งมีกระบวนการที่แตกต่างจากศาลทั่วไป และถูกพิพากษาให้มีความผิด ถือเป็นการถูกละเมิดสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญหลายมาตรา ทั้งมาตรา 3 วรรคสอง, มาตรา 5 วรรคหนึ่ง, มาตรา 27, มาตรา 29, มาตรา 188 วรรคหนึ่ง และมาตรา 195 วรรคสอง โดยเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและหลักนิติธรรม ทำให้ผู้ร้องได้รับความเสียหาย

นอกจากนี้ ผู้ร้องยังกล่าวอ้างว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 5 และมาตรา 27 ซึ่งทำให้ตนเองถูกละเมิดสิทธิจากการกระทำของผู้ถูกร้อง

ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาข้อเท็จจริงตามคำร้องและเอกสารประกอบแล้ว มีมติเป็นเอกฉันท์เห็นว่า ไม่รับคำร้องทั้งสองประเด็นไว้พิจารณา

สำหรับประเด็นแรกที่อ้างว่าถูกละเมิดสิทธิจากการที่ต้องตกอยู่ภายใต้การพิจารณาของศาลฎีกาฯ หลังจำเลยที่เป็นนักการเมืองถูกยกฟ้อง ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องที่ศาลอื่นได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดแล้วตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 47 (4) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณา ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้

ส่วนประเด็นที่สองที่ขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของ พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 10 นั้น ศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า การยื่นคำร้องขอให้ตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติสิทธิไว้เป็นการเฉพาะแล้วตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 และมาตรา 231 (1) ซึ่งกรณีของผู้ร้องไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 48 ประกอบมาตรา 47 (2) ซึ่งมาตรา 46 วรรคสาม บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาเช่นกัน ดังนั้น ผู้ร้องจึงไม่อาจยื่นคำร้องดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 213 ได้

อนึ่ง ในการพิจารณาคดีนี้ นายวิรุฬห์ แสงเทียน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้ขอถอนตัวจากการพิจารณาคดี เนื่องจากเคยเป็นผู้พิพากษาหรือตุลาการในศาลอื่น ซึ่งเคยพิจารณาวินิจฉัยในคดีหรือประเด็นที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้มาก่อน และที่ประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้อนุญาต

สำหรับคดีปล่อยกู้เครือกฤษดามหานครของธนาคารกรุงไทยนั้น นายวิโรจน์ นวลแข อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ พร้อมพวก ถูกอัยการยื่นฟ้องในคดีร่วมกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นจำเลยที่ 1 โดยเหตุเกิดเมื่อปี 2555 ต่อมาในปี 2558 ศาลฎีกาฯ ได้มีคำพิพากษาสั่งจำคุกนายวิโรจน์ พร้อมพวกรวม 4 คน คนละ 18 ปี และสั่งให้ร่วมกันชดใช้เงินประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท ขณะที่นายทักษิณ หลบหนีคดี ศาลจึงออกหมายจับและจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว กระทั่งเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ศาลได้อ่านคำพิพากษาลับหลัง โดยมีคำพิพากษายกฟ้องนายทักษิณในคดีดังกล่าว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *