มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ผนึก Raisewell Ventures กองทุนโลกจาก Silicon Valley ดันนวัตกรรม-สตาร์ทอัพไทยสู่สากล คาดสร้างอิมแพ็คกว่า 8 หมื่นล้านใน 10 ปี
เชียงใหม่ – 26 เมษายน 2567 – มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) ประกาศความร่วมมือครั้งประวัติศาสตร์กับ Raisewell Ventures กองทุน Impact Fund ระดับโลกจาก Silicon Valley สหรัฐอเมริกา เพื่อขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรมของไทยให้เข้าสู่ระบบนิเวศนวัตกรรมระดับโลกอย่างเป็นรูปธรรม นับเป็นครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้ร่วมมือกับ Raisewell Ventures ซึ่งก่อตั้งและบริหารงานโดยคุณ Jeep Kline ผู้เชี่ยวชาญด้าน Impact Investing และอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ (Professional Faculty) ที่ UC Berkeley, Haas School of Business ผู้มีประสบการณ์กว่า 20 ปีในซิลิคอนวัลเลย์
คุณ Jeep Kline มีประสบการณ์บริหารกองทุนสำเร็จมาแล้ว 4 กองทุน และเคยเป็นอดีตผู้บริหารระดับสูงจาก World Bank และ Intel Corporation ความร่วมมือนี้มีเป้าหมายสำคัญในการสร้างสะพานเชื่อมและกลไกที่แข็งแกร่ง เพื่อผลักดันสตาร์ทอัพและ Deep Tech ของไทย ให้สามารถขยายตัวสู่ตลาดสากลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวว่า ความร่วมมือนี้เป็นโอกาสทองของมหาวิทยาลัยในการทำงานกับผู้เชี่ยวชาญระดับโลก โดยเฉพาะแนวทางของ Raisewell Ventures ที่เป็นกองทุน VC ในรูปแบบ Impact Fund ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ มช. ที่จะเป็นผู้นำในการทำงานกับกองทุน VC ต่างประเทศ เพื่อเปิดประตูให้นักวิจัยและสตาร์ทอัพจาก มช. เข้าถึงระบบนิเวศนวัตกรรม แหล่งทุน และเครือข่ายพันธมิตรมืออาชีพระดับนานาชาติ เพื่อเร่งกระบวนการผลักดันเทคโนโลยีเชิงลึกสู่เชิงพาณิชย์ในระดับสากล นอกจากนี้ มช. ยังพร้อมเป็น Gateway ให้กับนักวิจัยและสตาร์ทอัพจากมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในประเทศไทย ที่ต้องการเข้าถึงโอกาสระดับโลกเช่นนี้
ผศ.ดร.ธัญญานุภาพ อานันทนะ รองอธิการบดี มช. ผู้รับผิดชอบการบริหารนวัตกรรมฯ กล่าวเสริมถึงความพร้อมว่า ตลอด 10 ปีที่ผ่านมา อุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (STeP) ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักในการสนับสนุน ได้สร้างผลงานร่วมกับภาคอุตสาหกรรมกว่า 2,694 ผลงาน มีงานวิจัยและเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดและใช้ประโยชน์แล้ว 231 ผลงาน บ่มเพาะสตาร์ทอัพมากกว่า 465 บริษัท สร้างการจ้างงานทักษะสูงกว่า 5,718 ตำแหน่ง และสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจากสตาร์ทอัพและการถ่ายทอดเทคโนโลยีรวมกว่า 20,916.79 ล้านบาท ปัจจุบัน มช. มีกลไกส่งเสริมที่แข็งแกร่ง เช่น โปรแกรม builds สำหรับนักศึกษาที่ต้องการตั้งธุรกิจระหว่างเรียน, Basecamp24 สำหรับบ่มเพาะ/เร่งการเติบโตของสตาร์ทอัพ, และอ่างแก้วโฮลดิ้ง สำหรับการ spin-off งานวิจัยตั้งบริษัทเทคโนโลยี
คุณ Jeep Kline แสดงความเชื่อมั่นในศักยภาพของ มช. ที่จะยกระดับนวัตกรรมและสตาร์ทอัพให้ทัดเทียมระดับโลกได้ หลังจากการหารือและประเมินความพร้อมร่วมกันกว่าหนึ่งปี ความร่วมมือนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญของประเทศไทย ท่ามกลางความผันผวนจากปัญหากำแพงภาษีและภูมิรัฐศาสตร์โลก โดยชี้ให้เห็นว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสสำหรับเทคโนโลยี นวัตกรรม และสตาร์ทอัพ เช่น การพัฒนา Cybersecurity ในช่วงวิกฤติที่ผ่านมา
ภายใต้ความร่วมมือนี้ มช. และ Raisewell Ventures จะร่วมกันสร้างโปรแกรมที่เน้นการปฏิบัติจริง โดยใช้แนวทางและประสบการณ์จากคุณ Jeep Kline จัดกิจกรรมและ Workshop เชื่อมโยงผู้เข้าร่วมกับเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญและนักลงทุนระดับโลก เช่น Lawrence Lab, Haas School of Business ของ UC Berkeley รวมถึงเครือข่ายใน Silicon Valley เพื่อปรับแนวทางการพัฒนางานวิจัย กลยุทธ์ธุรกิจ และการระดมทุน
เป้าหมายคือให้โอกาสอาจารย์ นักวิจัย นักศึกษา และผู้ประกอบการกว่า 400 คน ได้เรียนรู้การพัฒนานวัตกรรมระดับสากล ผลักดันผลงาน Deep Tech จาก มช. ให้พร้อมสู่ระดับโลกไม่น้อยกว่า 5 ผลงาน และสนับสนุนสตาร์ทอัพมากกว่า 100 รายในกระบวนการนี้
ศ.ดร.นพ.พงษ์รักษ์ กล่าวสรุปด้วยความคาดหวังว่า ความร่วมมือนี้จะนำเทคโนโลยีของ มช. ไปสู่ระดับโลก มีโอกาสเกิดสตาร์ทอัพระดับ Unicorn ของประเทศไทย และสร้างผลกระทบเชิงบวกในภาพรวมตามแนวทาง Impact Fund นำไปสู่การสร้างมูลค่าเศรษฐกิจและสังคมรวมกว่า 80,000 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 10 ปี