ภาคประชาชนเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว เน้นเอาผิดผู้กระทำ-คุ้มครองเหยื่อรอบด้าน
ดร.วราภรณ์ แช่มสนิท เลขาธิการสมาคมเพศวิถีศึกษา เปิดเผยว่า ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา สมาชิกเครือข่ายต่อต้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศประเทศไทย ประกอบด้วยองค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานช่วยเหลือผู้ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวและความรุนแรงทางเพศ 10 องค์กร ได้ยื่นเรื่องริเริ่มเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ฉบับภาคประชาชนต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยมีผู้แทนสำนักงานเลขาธิการสภาฯรับเรื่องแล้ว
เครือข่ายฯ ชี้ว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ.2550 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน มีจุดต้องแก้ไขหลายประการ โดยเฉพาะหลักการกฎหมายที่เน้นรักษาความสัมพันธ์ในครอบครัว แทนที่จะให้ความสำคัญสูงสุดกับการคุ้มครองสวัสดิภาพ ความปลอดภัย และการฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย
“ผลที่ตามมาคือ ขาดมาตรการที่จะเอาผิดกับผู้กระทำอย่างจริงจัง ทั้งยังเปิดช่องสนับสนุนให้ไกล่เกลี่ยเพื่อยอมความ โดยไม่ได้กำหนดเงื่อนไขให้รัดกุมและคำนึงถึงสวัสดิภาพและความปลอดภัยของผู้เสียหาย กลายเป็นความลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย” ดร.วราภรณ์ กล่าว
แม้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) จะได้เสนอร่างแก้ไขซึ่งผ่านความเห็นชอบในหลักการจากคณะรัฐมนตรีไปแล้ว แต่เครือข่ายฯ มองว่าส่วนใหญ่เป็นการปรับแก้รายมาตราในประเด็นย่อย ขณะที่กฎหมายฉบับนี้ต้องถูกรื้อและยกเครื่องใหม่
“เรามองว่ากฎหมายฉบับนี้ต้องเน้นให้รัฐต้องเอาผิดกับผู้กระทำความรุนแรงในครอบครัวอย่างจริงจัง และมีมาตรการรอบด้านในการคุ้มครองสวัสดิภาพและฟื้นฟูเยียวยาผู้เสียหาย เราจึงริเริ่มร่าง พ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชนขึ้น และเตรียมล่า 20,000 รายชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาฯ” ดร.วราภรณ์ กล่าวเสริม
ด้าน น.ส.บุษยาภา ศรีสมพงษ์ ทนายความด้านความรุนแรงด้วยเหตุแห่งเพศ และผู้ก่อตั้งองค์กรชีโร่ (SHero Thailand) เปิดเผยว่า ร่าง พ.ร.บ.ฉบับภาคประชาชนมีเป้าหมายสร้างระบบคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัวที่ครอบคลุมรอบด้าน
“เราไม่ควรผลักภาระให้ผู้เสียหายต้องยอมความเพื่อรักษาครอบครัว ทั้งที่ยังมีความเสี่ยงถูกกระทำซ้ำ เพราะความรุนแรงในครอบครัวคืออาชญากรรมที่มีรากฐานจากโครงสร้างอำนาจที่ไม่เท่าเทียม” น.ส.บุษยาภา กล่าวทิ้งท้าย