โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ชู ‘นวัตกรรมผ่าตัดลิ้นหัวใจ’ แผลเล็ก-TAVI สู้ภัยเงียบโรคลิ้นหัวใจ จัดงานให้ความรู้ครบวงจร
กรุงเทพมหานคร, ประเทศไทย – โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ตระหนักถึงภัยเงียบจาก “โรคลิ้นหัวใจ” ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือด จึงได้จัดกิจกรรมเสวนาให้ความรู้ภายใต้แนวคิด “SAVE YOUR HEART SAVE YOUR LIFE : เพราะหัวใจมีความหมายเท่ากับชีวิต” เพื่อเผยแพร่นวัตกรรมการผ่าตัดเปลี่ยนและซ่อมแซมลิ้นหัวใจแบบแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery – MIS) และการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (Transcatheter Aortic Valve Implantation – TAVI) พร้อมให้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับการรักษา การเตรียมตัว การฟื้นฟู และสิทธิการรักษา เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงทางเลือกการรักษาที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเมื่อวันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2568 ณ อาคารกรมพระศรีสวางควัฒน โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ รักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก อายุรศาสตร์โรคหัวใจและหลอดเลือด ทีมพยาบาล เภสัชกร นักเทคโนโลยีหัวใจและทรวงอก นักกายภาพบำบัด และตัวแทนบริษัท เอ็ดวาร์ดส์ ไลฟ์ไซเอ็นซ์ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วม โดยมีคุณหมอก้อง สรวิชญ์ สุบุญ รับหน้าที่พิธีกร
ศาสตราจารย์ นายแพทย์สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ เปิดเผยข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข ปี 2566 ว่า ทั่วโลกมีผู้เสียชีวิตจากโรคหัวใจและหลอดเลือดกว่า 20.5 ล้านคนต่อปี ขณะที่ในประเทศไทยพบผู้ป่วยสะสมมากกว่า 2.5 แสนราย และเสียชีวิตสูงถึง 4 หมื่นรายต่อปี หรือเฉลี่ยชั่วโมงละ 5 คน ซึ่งโรคลิ้นหัวใจเป็นหนึ่งในภัยเงียบที่สำคัญ การจัดงานครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสืบสานพระปณิธานของ ศาสตราจารย์ ดร. สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วรขัตติยราชนารี ในการเป็นที่พึ่งด้านสุขภาพแก่ผู้ป่วยทุกระดับ ให้เข้าถึงการรักษาด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยอย่างเท่าเทียม และเพื่อกระตุ้นเตือนให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญของโรคนี้
นายแพทย์สุขสันต์ กนกศิลป์ หัวหน้างานศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก กล่าวถึงโรคลิ้นหัวใจรั่วหรือตีบ ซึ่งมี 3 ระยะ โดยระยะปานกลางถึงรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด การเลือกใช้ลิ้นหัวใจเทียมแบบโลหะ/เซรามิค หรือแบบเนื้อเยื่อ ขึ้นอยู่กับข้อบ่งชี้ของผู้ป่วย โดยลิ้นโลหะมีอายุใช้งานนานกว่าแต่ต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือด (warfarin) ตลอดชีวิต ซึ่งเสี่ยงต่อภาวะเลือดออก ขณะที่ลิ้นเนื้อเยื่อต้องรับประทานยาละลายลิ่มเลือดเพียง 3 เดือนแรก จากนั้นเปลี่ยนเป็นยาแอสไพริน ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงเลือดออกได้มากกว่า
สำหรับกระบวนการผ่าตัดเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจโดยทั่วไปใช้เวลาประมาณ 3-4 ชั่วโมง พักฟื้นใน ICU 2-3 คืน ก่อนย้ายไปหอผู้ป่วย รวมระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลประมาณ 7 วัน หลังกลับบ้านสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ แต่ควรงดการออกกำลังกายหนักหรือยกของหนักจนกว่ากระดูกหน้าอกจะติดกันดี (ประมาณ 3 เดือน)
ปัจจุบัน เทคโนโลยีการผ่าตัดก้าวหน้าอย่างมาก โดยเฉพาะการผ่าตัดแบบแผลเล็ก (MIS) ซึ่งมีขนาดแผลประมาณ 10 เซนติเมตร ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น แผลสวยงามขึ้น โดยค่าใช้จ่ายในบางรายการไม่เพิ่มขึ้น และในอนาคตอันใกล้ อาจมีการนำหุ่นยนต์มาช่วยผ่าตัดแผลเล็กเมื่อราคาเข้าถึงได้มากขึ้น
ด้านค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดลิ้นหัวใจ นายแพทย์สุขสันต์ ระบุว่าขึ้นอยู่กับสิทธิการรักษาพื้นฐานของผู้ป่วย เช่น บัตรทอง ประกันสังคม ข้าราชการ หรือประกันสุขภาพเอกชน ค่าใช้จ่ายรวมประกอบด้วยหลายส่วน ทั้งค่ายา ค่าห้อง ค่าอาหาร และค่าลิ้นหัวใจเทียม ซึ่งมีหลายชนิดและราคาแตกต่างกันไป ลิ้นหัวใจเทียมแบบมาตรฐานอาจมีส่วนเกินหลักพันถึงหมื่นกว่าบาท ส่วนแบบที่พัฒนาใหม่ อาจมีส่วนเกินสองหมื่นถึงแสนกว่าบาท ทำให้ค่าใช้จ่ายส่วนเกินโดยรวมอาจอยู่ในหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ขึ้นอยู่กับชนิดลิ้นหัวใจ ระยะเวลาพักฟื้น และภาวะแทรกซ้อน
นายแพทย์วิโรจน์ เมืองศิลปศาสตร์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์หัวใจและหลอดเลือด กล่าวถึงนวัตกรรมการเปลี่ยนลิ้นหัวใจผ่านสายสวน (TAVI) ซึ่งเป็นการรักษาลิ้นหัวใจเอออร์ติกตีบโดยไม่ต้องผ่าตัดเปิดหน้าอก เหมาะกับผู้สูงอายุที่มีโรคประจำตัว ลดความเสี่ยงจากการผ่าตัด ฟื้นตัวเร็ว ไม่ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนาน
นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้เกี่ยวกับการเตรียมตัวก่อนผ่าตัด การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัด และการใช้ยาสำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยทีมแพทย์และเภสัชกร พร้อมทั้งรับฟังประสบการณ์ตรงจากผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจที่โรงพยาบาลจุฬาภรณ์
ภายในงานยังมีบูทกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้คำปรึกษาอย่างครบวงจร ทั้งจากศัลยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกำหนดอาหาร และนักกายภาพบำบัด
ผู้สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจได้ที่โทรศัพท์ 06 4586 2405 (พยาบาลประสานงานโรคหัวใจ) และติดตามข้อมูลสุขภาพเพิ่มเติมผ่าน Line Official Account (@chulabhornhospital), Facebook (โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์), YouTube (ซีอาร์เอจุฬาภรณ์แชนแนล) รวมถึงสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน CHULABHORN HEALTH PLUS สำหรับผู้ป่วยที่มีประวัติการรักษาได้ทาง App Store และ Google Play Store