ชาวเชียงราย-ลุ่มน้ำกก รวมพลัง 5 มิ.ย. วันสิ่งแวดล้อมโลก จี้ 3 รัฐบาล เร่งแก้ปัญหาสารหนูปนเปื้อนแม่น้ำกก-แม่น้ำสาย

เชียงราย / ลุ่มน้ำกก – กลุ่มประชาชนและภาคประชาสังคมในพื้นที่จังหวัดเชียงรายและลุ่มน้ำกก-แม่น้ำสาย เตรียมรวมพลังครั้งใหญ่ในวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิถุนายนนี้ เพื่อแสดงเจตนารมณ์และส่งเสียงเรียกร้องถึงรัฐบาลไทย รัฐบาลเมียนมา และรัฐบาลจีน รวมถึงกองกำลังชาติพันธุ์ในพื้นที่ต้นน้ำ ให้เร่งแก้ปัญหาสารหนูและสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนในแม่น้ำกกและแม่น้ำสาย ซึ่งมีสาเหตุมาจากการทำเหมืองแร่บริเวณต้นน้ำในประเทศเมียนมา โดยตั้งเป้าหมายระดมผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 10,000 คน

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมาจากการจัดวงหารือ “ปกป้องแม่น้ำกก-แม่น้ำสาย/ปิดเหมืองต้นน้ำ-ฟื้นฟูลุ่มน้ำ” เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคมที่ผ่านมา ณ จังหวัดเชียงราย โดยมีผู้เข้าร่วมหลากหลายภาคส่วน ทั้งพระภิกษุ นักธุรกิจ อดีตสมาชิกวุฒิสภา ศิลปิน นักการเมืองท้องถิ่น องค์กรภาคประชาสังคม และประชาชนจากพื้นที่ริมแม่น้ำกกและแม่น้ำสายในจังหวัดเชียงใหม่และเชียงราย

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์องค์กรแม่น้ำนานาชาติ International Rivers กล่าวสรุปสถานการณ์ว่า จากการสังเกตและภาพถ่ายทางอากาศ พบการทำเหมืองขนาดใหญ่ในรัฐฉานและรัฐคะฉิ่นของเมียนมา ใกล้ชายแดนไทย รวมถึงการทำเหมืองกลางแม่น้ำสาย ซึ่งพื้นที่เหล่านี้มักดูแลโดยกองกำลังชาติพันธุ์ เช่น กองกำลังว้า และ กองกำลังคะฉิ่น (Kachin Independence Army: KIA) ซึ่งไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อคนท้ายน้ำ

ก่อนหน้านี้ ชาวบ้านท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งอยู่ต้นแม่น้ำกกฝั่งไทย ได้สังเกตเห็นความผิดปกติและดำเนินการเรียกร้อง จนนำไปสู่การตรวจสอบและพบผลการตรวจยืนยันว่าแม่น้ำกกมีสารหนูปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐาน เช่นเดียวกับความกังวลจากการเปิดเผยข้อมูลของมูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ที่พบการทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธจำนวนมากในพื้นที่ต้นน้ำแม่น้ำสาย

“สิ่งน่าเป็นห่วงคือ นี่เป็นเพียงผลกระทบในปีแรกๆ จากการทำเหมือง ถ้าเหมืองยังคงดำเนินการต่อไปในต้นน้ำอีกหลายปี ผลกระทบในอนาคตจะยิ่งน่ากลัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเกิดน้ำหลากและน้ำท่วมในปีนี้ น้ำและโคลนที่ปนเปื้อนสารพิษก็จะส่งผลกระทบอย่างหนักกว่าที่เคยเป็น” น.ส.เพียรพร กล่าวเตือน

ดร.สืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการจากมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กล่าวว่า จากการหารือ ทุกภาคส่วนเห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมกันจัดกิจกรรมใหญ่ในวันสิ่งแวดล้อมโลก วันที่ 5 มิถุนายนนี้ ซึ่งจะเป็นการ “ฮอมปอย” หรือการรวมพลังของทุกฝ่ายโดยไม่มีเจ้าภาพหลัก โดยมีเป้าหมายหลักคือการส่งเสียงเรียกร้องให้รัฐบาลทั้งสามประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ต่างจากกลไกราชการปกติที่ดำเนินการอยู่

“ในวันที่ 5 มิถุนายน เราอยากเชิญชวนชาวบ้านออกมาแสดงเจตนารมณ์สัก 10,000 คน หรือประมาณ 1% ของประชากรเชียงราย ในพื้นที่ต่างๆ อาจมีการยื่นหนังสือถึงสถานทูตจีน ชวนนักเรียนนักศึกษาร่วมแสดงออก และจัดกิจกรรมสืบชะตาแม่น้ำกก” ดร.สืบสกุล กล่าวถึงแนวคิดกิจกรรม

ผู้ร่วมประชุมได้แสดงความเห็นหลากหลาย ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการจัดกิจกรรมใหญ่ในวันที่ 5 มิถุนายน และมีข้อเสนอเพิ่มเติม เช่น การเชิญตัวแทนจากสถานทูตจีน ตัวแทนกองกำลังว้า และตัวแทนรัฐบาลเมียนมาเข้าร่วมหารือ การจัดกิจกรรมคู่ขนานในพื้นที่อำเภอแม่สายและเชียงแสน การรณรงค์ผูกริบบิ้นติดรถเพื่อแสดงสัญลักษณ์การปกป้องแม่น้ำ

ประเด็นหนึ่งที่ถูกหยิบยกขึ้นมาอย่างน่าเป็นห่วงคือ คำตอบจากส่วนราชการที่มักระบุว่าระดับสารโลหะหนักในแม่น้ำกกยังไม่เกินค่ามาตรฐาน แต่กลับไม่มีคำตอบที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบของการสะสมสารพิษในร่างกายมนุษย์ ขณะที่อดีตข้าราชการบางรายเสนอว่า ผู้ทำเหมืองควรจัดการสารพิษในพื้นที่ของตนเอง ไม่ใช่ปล่อยลงสู่แม่น้ำที่เป็นแหล่งน้ำสำคัญ

“เราอยากให้ภาครัฐมีความกระตือรือร้นและเห็นความเปลี่ยนแปลงในการแก้ปัญหา ต้องมีเป้าหมายและระยะเวลาที่ชัดเจน วันที่ 5 มิถุนายน เป็นแค่จุดเริ่มต้น เราอาจต้องไปยื่นหนังสือถึงสถานทูตจีนเพื่อให้เขาทราบว่าเกิดอะไรขึ้นกับเรา และไม่สามารถนิ่งเฉยได้” ผู้ร่วมประชุมคนหนึ่งกล่าว

พระมหานิคม มหาภินิกฺขมโน ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดท่าตอน จังหวัดเชียงใหม่ เปรียบเทียบสถานการณ์ของแม่น้ำกกเหมือน “แม่เราที่อยู่ในห้องไอซียู” ซึ่งต้องการการรักษาที่ตรงจุด โดยเน้นย้ำว่าปัญหานี้เป็นเรื่องของความมั่นคงของชาวบ้าน ชุมชน และของชาติ ที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข พร้อมเสนอให้มีการรณรงค์เผยแพร่เรื่องนี้ให้สังคมไทยและทั่วโลกรับรู้ถึงความทุกข์ของประชาชนในพื้นที่

“เมื่อรัฐบาลซึ่งเปรียบเสมือนพ่อทำงานไม่ได้ เราก็ต้องส่งเสียงให้ไกลกว่านั้น อาจไปถึงอาเซียน หรือสหประชาชาติ ต้องทำให้ถึงที่สุด” พระมหานิคม กล่าว

ด้าน ซอแลต นักวิจัยอิสระชาวคะฉิ่น กล่าวเสริมว่า การทำเหมืองแร่แรร์เอิร์ธนั้นอันตรายอย่างยิ่ง ปัจจุบันประเทศจีนเป็นศูนย์กลางและเมียนมาคือผู้ส่งออกหลัก โดยเฉพาะจากพื้นที่รัฐคะฉิ่นภายใต้การดูแลของ KIA และล่าสุดได้ขยายมาถึงรัฐฉานและชายแดนไทย นี่คือปัญหาการเมืองระดับภูมิภาคที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อประเทศท้ายน้ำอย่างไทย ลาว เวียดนาม กัมพูชา ดังนั้นจึงจำเป็นต้องยกระดับปัญหานี้จากการเมืองท้องถิ่นไปสู่ระดับชาติและรัฐสภาเพื่อให้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง

นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว หรือ ครูตี๋ กล่าวทิ้งท้ายว่า สถานการณ์นี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ ส.ส. และรัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ต้องยกระดับปัญหาสารปนเปื้อนในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายให้เป็นเรื่องความมั่นคงของชาติ พร้อมระบุว่าจะมีการประชาสัมพันธ์เพื่อเชิญชวนประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมในวันที่ 5 มิถุนายน อย่างกว้างขวาง โดยจะมีการจัดเวทีให้ข้อมูลที่สวนตุงกลางเมืองเชียงรายในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้

ดร.สืบสกุล ย้ำในภายหลังว่า ข้อตกลงร่วมกันคือการใช้โอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน เป็นเวทีแสดงเจตนารมณ์ครั้งสำคัญเพื่อกดดันรัฐบาลไทย เมียนมา จีน และกองกำลังชาติพันธุ์ ซึ่งจากหลักฐานที่ประจักษ์ชัดว่ามีการปนเปื้อนสารโลหะหนักจากเหมืองในเมียนมาโดยบริษัทจีน รัฐบาลไทยควรต้องเชิญเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเมียนมาและจีนมาพูดคุยเพื่อหาทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *