ครม. เคาะเพิ่มเงินชดเชยว่างงาน “ถูกเลิกจ้าง” เป็น 60% บรรเทาภาระผู้ประกันตน

ทำเนียบรัฐบาล – เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงาน (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ

นายคารม กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ที่ต้องว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง มีสิทธิได้รับเงินทดแทนในอัตรา ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน ซึ่งกระทรวงแรงงานพิจารณาแล้วเห็นว่า อาจไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน

ดังนั้น เพื่อเป็นการช่วยเหลือและบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้าง จึงได้มีการเสนอปรับเพิ่มอัตราเงินทดแทนในกรณีดังกล่าวให้สูงขึ้น โดยคำนึงถึงเสถียรภาพของกองทุนประกันสังคมด้วย

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวงฉบับนี้ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมกฎกระทรวงเดิม เพื่อปรับเพิ่มอัตราการได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีว่างงานเพราะเหตุถูกเลิกจ้าง จากอัตรา “ร้อยละ 50 ของค่าจ้างรายวัน” เป็น “ร้อยละ 60 ของค่าจ้างรายวัน” ทั้งนี้ กำหนดให้ยังคงได้รับเงินทดแทนในแต่ละครั้งเป็นระยะเวลาไม่เกิน 180 วันเช่นเดิม

รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงแรงงานได้ดำเนินการตามมาตรา 27 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 แล้ว โดยประมาณการรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการปรับเพิ่มอัตราเงินทดแทนในครั้งนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,035.40 ล้านบาทต่อปี ซึ่งยอดดังกล่าวจะปรับเพิ่มขึ้นในแต่ละปีตามร้อยละของเงินเดือนหรือค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกันตน

การปรับเพิ่มอัตราเงินชดเชยว่างงานกรณีถูกเลิกจ้างเป็นร้อยละ 60 นี้ ถือเป็นอีกหนึ่งมาตรการของภาครัฐที่มุ่งช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตของลูกจ้างผู้ประกันตนในช่วงเวลาที่ยากลำบากจากการสูญเสียรายได้หลัก ให้สามารถประคับประคองชีวิตและครอบครัวได้ดียิ่งขึ้น

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *