ธปท. เตือนผลกระทบภาษีสหรัฐฯ ต่อส่งออกไทย ชี้ครึ่งปีหลัง 2568 จะชัดเจน
วันที่ 17 เมษายน 2568 นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยในงานวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นของนโยบายการค้าโลกต่อเศรษฐกิจไทยว่า นโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา รวมถึงการตอบโต้ของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะส่งผลต่อภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจ การเงิน และการค้าโลกอย่างมีนัยสำคัญ
สถานการณ์คาดว่าจะยืดเยื้อ โดยผลกระทบจะส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทยในหลายช่องทาง และใช้เวลากว่าจะเห็นผลที่ชัดเจน ในระยะสั้น ตลาดการเงินผันผวนขึ้น เริ่มเห็นการผลิต การค้า และการลงทุนบางส่วนชะลอเพื่อรอความชัดเจน ขณะที่จะเห็นผลของภาษีศุลกากร (tariff) ต่อการส่งออกมากขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
ทั้งนี้ ความรุนแรงของผลกระทบจะขึ้นกับภาษีที่ไทยถูกจัดเก็บเทียบกับประเทศคู่ค้า และการตอบโต้ระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลักและสหรัฐฯ ซึ่งผลต่อเศรษฐกิจการเงินไทยจะมีผ่าน 5 ช่องทางหลัก ดังนี้
- สถานการณ์ตลาดการเงินล่าสุด ขณะนี้ราคาสินทรัพย์ทั้งในไทยและต่างประเทศมีความผันผวนเพิ่มขึ้น แม้สภาพคล่องและกลไกการทำธุรกรรมยังคงเป็นไปตามปกติ ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ (แข็งขึ้น 2.71% ณ วันที่ 17 เมษายน 2568) สอดคล้องกับแนวโน้มภูมิภาคจากการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ สืบเนื่องจากความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ
- ภาคการลงทุน ความไม่แน่นอนที่ยังสูงต่อเนื่องทำให้การตัดสินใจทางธุรกิจและการลงทุนชะลอออกไป (wait and see) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ส่งออกไปสหรัฐฯ เป็นหลัก (อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องจักร และยานยนต์) ซึ่งเริ่มเห็นผลดังกล่าวบ้างแล้ว
- ภาคส่งออกไทย ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกไปสหรัฐฯ ราว 18% ของการส่งออกทั้งหมด หรือประมาณ 2.2% ของ GDP อาจเริ่มเห็นผลกระทบชัดเจนตั้งแต่ครึ่งหลังของปี จากนโยบายภาษีตอบโต้ (reciprocal tariff) ที่ถูกเลื่อนบังคับใช้ออกไป 90 วัน
- การแข่งขันในตลาดส่งออกและในประเทศจะรุนแรงขึ้น ซึ่งไทยอาจต้องเผชิญกับการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจากประเทศอื่นที่หันมาส่งออกมายังตลาดเดียวกันกับไทย หรือแม้แต่ส่งเข้าสู่ตลาดไทยโดยตรง
- เศรษฐกิจโลกชะลอ กระทบส่งออก-ท่องเที่ยวไทย ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวในประเทศคู่ค้า รวมถึงราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ลดลง จะกระทบต่อรายได้จากการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย
นายสักกะภพ กล่าวว่า ธปท. จะติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในภาคส่วนสำคัญ เช่น การผลิต การส่งออก และการลงทุน รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในกลไกตลาดและพฤติกรรมการกู้ยืมของภาคเอกชน