แบงก์ชาติ ห่วงเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลัง สังคมพิษสงครามการค้า ยัน! เงินเฟ้อต่ำไม่ใช่เงินฝืด

กรุงเทพฯ – ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แสดงความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการชะลอตัวของการลงทุนและการส่งออก ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่เพิ่มขึ้นจากสถานการณ์สงครามการค้าโลก อย่างไรก็ตาม ธปท. ยืนยันว่าภาวะเงินเฟ้อทั่วไปที่ลดลงในปัจจุบันยังไม่ใช่สัญญาณของภาวะเงินฝืด

นายปิติ ดิษยทัต รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. เปิดเผยในงาน Monetary Policy Forum 1/2568 ว่า เศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความไม่แน่นอนสูง การใช้นโยบายการเงินจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ โดยเฉพาะการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 1.75% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำ การลดลงอีกอาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก เนื่องจากเมื่อมีความไม่แน่นอนสูง ผู้คนและธุรกิจยังคงชะลอการลงทุนและใช้จ่าย ธปท. จึงเห็นควรสงวนเครื่องมือทางนโยบายไว้เพื่อใช้ในเวลาที่จำเป็น เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในอนาคต

“ศักยภาพและรูมที่เหลือไม่เยอะมาก ตอนนี้ลดลงมาเหลือ 1.75% และระดับดอกเบี้ยเมื่อต่ำลงแล้ว แรงกระตุ้นเพิ่มเติมจะลดลง ขณะเดียวกันยังต้องเก็บกระสุนไว้เพื่อใช้ในระยะข้างหน้า เพราะยังมีความไม่แน่นอนมาก และการลดดอกเบี้ย ในบริบทนี้ อย่างการลงทุน เมื่อลดดอกเบี้ยไป แต่ยังมีความไม่แน่นอนตอนนี้ คนก็ไม่กล้าลงทุน คนก็ยังไม่กล้าจับจ่าย ผลหรือประสิทธิภาพนโยบายการเงินอาจจะได้ไม่เยอะ” นายปิติ กล่าว

ด้าน นายสักกะภพ พันธ์ยานุกูล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. เสริมว่า แม้ผลกระทบจากสงครามการค้ายังไม่ชัดเจนเต็มที่ แต่เริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของการลงทุนแล้ว ผลกระทบที่ชัดเจนคาดว่าจะปรากฏในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 และต่อเนื่องถึงปี 2569 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ส่งออกไปยังสหรัฐอเมริกา และธุรกิจเอสเอ็มอีที่เชื่อมโยงกับการผลิตและนำเข้า ภาคการผลิตและส่งออกของไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อรับมือกับโครงสร้างเศรษฐกิจโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

นายสักกะภพ ระบุว่า ธปท. ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ และเป็นการปรับเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่น รองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าได้ โดยศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่า 3% ซึ่งหากไม่มีการปรับตัว อาจส่งผลกระทบต่อศักยภาพการเติบโตในระยะยาวได้

นางปราณี สุทธศรี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธปท. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยโดยรวมยังคงถูกกดดันจากปัจจัยภายนอกประเทศเป็นหลัก และเผชิญความเสี่ยงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะสถานการณ์การค้าโลกที่ยากจะคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม การที่สหรัฐฯ และจีนสามารถเจรจาและลดหย่อนภาษีเป็นการชั่วคราว 90 วัน ถือเป็นสัญญาณบวกที่ช่วยคลายความตึงเครียดลงชั่วคราว และคาดว่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่ประเมินไว้เล็กน้อย โดยอานิสงส์จะมาในรูปของการส่งออกที่ดีขึ้น เมื่ออุปสงค์โลกฟื้นตัว และส่งผ่านจากการส่งออกของไทยไปจีน รวมถึงการส่งออกของจีนไปสหรัฐฯ ในช่วงดังกล่าว

นางปราณี เสริมว่า มูลค่าผลดีต่อ GDP ไทยจากการผ่อนปรนภาษี 90 วันนี้อาจไม่มากนัก (ประมาณ 0.1%) เนื่องจากเป็นเพียงมาตรการระยะสั้น ยังคงต้องติดตามผลการเจรจาในระยะยาวต่อไป

สำหรับภาคส่วนที่น่ากังวล นางปราณี ชี้ว่า กลุ่มส่งออกที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบได้แก่ อาหารแปรรูป, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องจักร, ชิ้นส่วนยานยนต์รวมถึงยางล้อ, และโลหะ ส่วนกลุ่มผู้ส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง

กลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษคือ เอสเอ็มอีที่ต้องเผชิญการแข่งขันสูงจากการนำเข้า เช่น กลุ่มเครื่องนุ่งห่มและสิ่งทอ ซึ่งมีเอสเอ็มอีกว่า 1.2 แสนราย จ้างงานกว่า 4.3 แสนคน กลุ่มเฟอร์นิเจอร์ มีเอสเอ็มอีกว่า 1.2 หมื่นราย จ้างงานกว่า 1.5 แสนคน และกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็ก มีเอสเอ็มอี 5,000 ราย จ้างงาน 1.4 แสนคน ผู้ประกอบการกลุ่มนี้ค่อนข้างลำบากและต้องการความช่วยเหลือด้านการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการสวมสิทธิ์ และการสนับสนุนด้านเงินทุนเพื่อปรับตัวและหาตลาดใหม่

ด้านสถานการณ์เงินเฟ้อ นายสุรัช แทนบุญ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มลดลงต่ำกว่ากรอบเป้าหมายชั่วคราวจากราคาน้ำมันและมาตรการภาครัฐ แต่เงินเฟ้อระยะกลางยังอยู่ในประมาณ 1.6% ซึ่งอยู่ในกรอบเป้าหมายที่ 1-3% ธปท. ยืนยันชัดเจนว่า การที่เงินเฟ้อทั่วไปปรับลดลง ไม่ได้มีสัญญาณของการหดตัวของราคาสินค้าและบริการที่กระจายเป็นวงกว้าง ซึ่งจะสะท้อนภาวะเงินฝืด

นายสุรัช กล่าวทิ้งท้ายว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยที่ผ่านมาช่วยลดต้นทุนการระดมทุน และนโยบายการเงินปัจจุบันอยู่ในระดับผ่อนคลาย ซึ่งเพียงพอที่จะช่วยรองรับความเสี่ยงในระยะข้างหน้าได้ระดับหนึ่ง

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *