พลิกวิกฤตโลกร้อนสู่โอกาส: ไบเออร์ชวนเกษตรกรไทยปรับตัว สู่ ‘เกษตรยั่งยืน’ ด้วยนวัตกรรม ‘High Land’ และรีไซเคิลถาดเพาะกล้า
ภาคเกษตรทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่จากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ทั้งปัญหาภัยแล้ง น้ำท่วม และโรคพืชที่รุนแรงขึ้น เพื่อให้ภาคเกษตรสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืน พร้อมสร้างความมั่นคงทางอาหารในยุคแห่งความไม่แน่นอน การปรับตัวและนำนวัตกรรมมาใช้จึงเป็นสิ่งจำเป็น
“ไบเออร์” หนึ่งในผู้นำด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต เห็นความสำคัญของการทำเกษตรที่ยั่งยืนและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จึงได้นำแนวคิดและนวัตกรรมต่างๆ มาส่งเสริมเกษตรกรไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องเผชิญกับปัญหาซ้ำซาก เช่น ปัญหาน้ำท่วมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่าสุดได้ดึงไอเดียและองค์ความรู้จากทีมงาน สู่การสร้างสรรค์แนวทางปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยให้เกษตรกรสามารถรับมือกับวิกฤติและยกระดับคุณภาพชีวิต
นวัตกรรมง่ายๆ ที่ช่วยลดขยะและป้องกันโรคพืช: “ชุบชีวิตถาดหลุมเพาะกล้า”
หนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจและได้ผลจริงคือ “การชุบชีวิตถาดหลุมพลาสติกเพาะกล้า” ที่แต่เดิมมักถูกทิ้งเป็นขยะจำนวนมหาศาลหลังการใช้งานเพียงครั้งเดียว จากการลงพื้นที่ของทีมงานไบเออร์ พบว่ามีถาดหลุมเพาะกล้าที่ใช้แล้วมากกว่า 100,000 ถาดต่อปี ซึ่งนอกจากจะเป็นปัญหาสิ่งแวดล้อมและสิ้นเปลืองทรัพยากรแล้ว ยังเป็นต้นทุนแฝงของเกษตรกร
ทีมเพาะกล้าและทีมงานการผลิตในแปลงปลูกของไบเออร์จึงเกิดแนวคิดนำถาดหลุมที่ใช้แล้วมาดัดแปลงเป็น “บัฟเฟอร์” หรือฐานรองสำหรับถุงวัสดุที่ใช้ปลูกพืช โดยได้นำไปทดสอบในแปลงปลูกพืชตระกูลแตง พริก และมะเขือ ของเกษตรกรเครือข่ายในพื้นที่ขอนแก่นและสกลนคร ผลการทดลองพบว่า การใช้ถาดหลุมรองก้นถุงวัสดุ ช่วยยกถุงให้สูงขึ้นเล็กน้อย ป้องกันไม่ให้ถุงแช่น้ำโดยตรงเมื่อเกิดฝนตกหนักหรือน้ำท่วมขัง ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรคพืชที่เกิดจากเชื้อราและแบคทีเรียในดิน ที่สำคัญคือช่วยลดความเสียหายของถุงวัสดุ ทำให้สามารถใช้ซ้ำได้ถึง 2-3 รอบการเก็บเกี่ยว ลดต้นทุนให้เกษตรกรได้อย่างมาก
นับตั้งแต่ปี 2566-2567 ไบเออร์ได้มอบถาดหลุมใช้แล้วกว่า 166,000 แผ่น ให้กับเกษตรกรเครือข่าย สามารถนำไปใช้รองถุงวัสดุได้ถึง 664,000 ถุง (1 ถาดรองได้ 4 ถุง) ประหยัดค่าใช้จ่ายให้เกษตรกร และช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปฝังกลบได้มากกว่า 90 ตันต่อปี เกษตรกรหลายรายที่นำแนวคิดนี้ไปใช้ ต่างยืนยันเป็นเสียงเดียวกันว่าได้ผลดี นอกจากลดขยะและต้นทุน ยังช่วยเพิ่มผลผลิตและรายได้ เพราะพืชไม่ถูกรบกวนจากโรค
คุณสุปราณี วงค์มา เกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศจากสกลนคร กล่าวว่า “วิธีนี้ช่วยลดต้นทุนในการผลิตอย่างมาก และยังป้องกันโรคพืช ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย”
คุณอรชร ไชยปัญหา อีกหนึ่งเกษตรกรจากสกลนคร เสริมว่า “วิธีต่างๆ ที่ไบเออร์คิดค้นและร่วมมือกับเกษตรกร ช่วยให้การดูแลง่ายขึ้น ลดต้นทุนแรงงาน ป้องกันโรค ทำให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน”
รับมือวิกฤติน้ำท่วมด้วย “High Land”: เกษตรบนที่สูง ปลอดภัยยั่งยืน
อีกแนวทางสำคัญที่ไบเออร์ส่งเสริมคือ การปลูกพืชแบบ “High Land” หรือการออกแบบแปลงปลูกให้มีลักษณะเป็นพื้นที่สูง มีการจัดการความลาดเอียงและการระบายน้ำที่เหมาะสม แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพื่อรับมือโดยตรงกับปัญหาน้ำท่วมที่รุนแรงและเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ซึ่งสร้างความเสียหายอย่างหนักให้กับเกษตรกร โดยเฉพาะเกษตรกรผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ในช่วงสำคัญอย่างการผสมเกสรและการเก็บเกี่ยว
ในปี 2566 ทีมงานไบเออร์ในจังหวัดสกลนคร ได้ร่วมกับเกษตรกรเครือข่าย 18 ราย นำแนวคิด High Land มาทดลองใช้อย่างจริงจังในอำเภออากาศอำนวย พังโคน และวานรนิวาส พบว่า เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถลดความเสี่ยงจากน้ำท่วมได้อย่างมีนัยสำคัญ ผลผลิตเพิ่มขึ้น และลดความกังวลเกี่ยวกับภัยธรรมชาติ ต่อมาได้ขยายผลไปยังอำเภอพรรณานิคม และพื้นที่อื่นๆ ในขอนแก่น มหาสารคาม และชัยภูมิ ปัจจุบันมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการรวมแล้ว 34 ราย
ความสำเร็จที่เห็นได้ชัดคือ แปลงปลูกแบบ High Land ของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการในสกลนครปี 2566 ไม่มีความเสียหายจากน้ำท่วมเลย เทียบกับพื้นที่เพาะปลูกแบบเดิมในนาข้าวที่ได้รับผลกระทบจากมรสุม ซึ่งเสียหายถึง 11% วิธีนี้ช่วยให้เกษตรกรบริหารจัดการแปลงได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วงย้ายกล้า และบรรลุเป้าหมายการผลิตที่วางไว้
แนวทาง High Land ไม่เพียงช่วยเพิ่มผลผลิตและลดความเสี่ยง แต่ยังปรับปรุงคุณภาพชีวิตเกษตรกร ลดการใช้เครื่องจักร ทำให้ดินกักเก็บคาร์บอนได้ดีขึ้น (จากการไถพรวนน้อยลง) และที่สำคัญคือทำให้ภาคเกษตรมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่การทำเกษตรคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม
คุณสมัย ไฮดำ เกษตรกรผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์มะเขือเทศจากขอนแก่น ผู้มีประสบการณ์กว่า 20 ปี และเผชิญปัญหาน้ำท่วมมาตลอด กล่าวว่า “การทำเกษตรแบบเดิมอาจต้องพัฒนา ผมเลยจัดพื้นที่เพาะปลูกให้เป็น High Land ขณะเดียวกันก็ใช้ถาดหลุมพลาสติกที่นำกลับมาใช้ใหม่ ทำให้ลดต้นทุน ลดความเสี่ยงโรคพืช และรายได้เพิ่มขึ้น”
คุณสุเทพ อุ่นแก้ว เกษตรกรต้นแบบผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์แตงโมจากมหาสารคาม เล่าว่า “ภูมิใจที่ได้เป็นเกษตรกรต้นแบบของไบเออร์ ผมพร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอ เพื่อการเกษตรที่ดีขึ้นและยั่งยืน มีโอกาสได้แนะนำเพื่อนเกษตรกรเรื่องการปรับปรุงพื้นที่ การป้องกันกำจัดศัตรูพืช ทำให้ทุกคนมีรายได้เพิ่มขึ้น”
คุณบรรเจิด ต่อกำไร เกษตรกรต้นแบบผู้ปลูกเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด เมล่อน มะระ จากชัยภูมิ กล่าวถึงการทำงานร่วมกับไบเออร์ว่า “ไบเออร์มีการดูแลใกล้ชิด เข้าเยี่ยมแปลงสม่ำเสมอ ให้ความรู้เรื่องจัดการดิน ผสมเกสร และทุกขั้นตอนตามมาตรฐานส่งออก การเป็นเกษตรกรต้นแบบทำให้มุ่งมั่นใส่ใจทุกขั้นตอน ผลผลิตดีขึ้นทุกปี”
เรื่องราวของเกษตรกรเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวที่ยืดหยุ่น พร้อมรับความเปลี่ยนแปลงเพื่อความยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจากไบเออร์ ที่มุ่งมั่นนำองค์ความรู้และนวัตกรรมมาถ่ายทอด เพื่อเพิ่มการเข้าถึงอาหารคุณภาพทั่วโลก พร้อมๆ กับรักษาสิ่งแวดล้อม พัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีของเกษตรกร และขับเคลื่อนภาคเกษตรไทยให้แข็งแกร่ง เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันมูลค่าการส่งออกเมล็ดพันธุ์กว่า 15,000 ล้านบาทต่อปีตามเป้าหมายของประเทศ