อัปเดตล่าสุด ตึก สตง. ถล่ม: กทม. เร่งกู้ซากเหลือ 12 เมตร ค้นหา 47 ชีวิตใต้ซากต่อเนื่อง ยอดผู้ประสบภัยรวม 103 ราย
รายงานความคืบหน้าล่าสุด (19 เม.ย. 2568) กรณีอาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่ถล่มลงมาจากเหตุแผ่นดินไหว ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงความพยายามอย่างต่อเนื่องในการกู้ซากและค้นหาผู้ประสบภัย
นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ขณะนี้เจ้าหน้าที่สามารถลดความสูงของยอดซากอาคารลงเหลือประมาณ 12 เมตรแล้ว โดยยังคงเดินหน้าปฏิบัติการค้นหาร่างผู้ติดค้างอย่างไม่หยุดยั้ง
สำหรับตัวเลขผู้ประสบภัยล่าสุด พบว่า มีผู้ประสบภัยรวมทั้งสิ้น 103 ราย แบ่งเป็นผู้เสียชีวิต 47 ราย บาดเจ็บ 9 ราย และยังคงมีผู้สูญหายซึ่งคาดว่ายังคงติดอยู่ใต้ซากอาคารอีก 47 ราย
ทีมกู้ภัยยังคงแบ่งพื้นที่การทำงานออกเป็นโซนต่างๆ อย่างชัดเจน โดยเจ้าหน้าที่ กทม. และทหารรับผิดชอบในโซน C และ D ขณะที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และมูลนิธิต่างๆ เข้าดำเนินการในโซน A และ B มีการระดมเครื่องจักรหนักเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบริเวณที่เรียกว่า ‘โซนอิสราเอล’ ซึ่งเป็นจุดที่คาดว่าจะพบผู้ติดค้างเพิ่มเติมจากบริเวณชั้นที่ 18 ลงมา
การขนย้ายเศษซากอาคาร ซึ่งประกอบด้วยเศษปูนและเหล็ก ดำเนินการไปแล้วรวม 307 เที่ยว โดยใช้น้ำมันเชื้อเพลิงไปแล้วประมาณ 4,400 ลิตร ขณะที่ทีมพิสูจน์อัตลักษณ์ (DVI) ได้รวบรวมร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มเติมอีก 2 ราย และชิ้นส่วนอวัยวะอีก 14 ชิ้น เพื่อนำไปตรวจพิสูจน์ยืนยันตัวบุคคลต่อไป
ส่วนประเด็นที่ยังมีความหวังว่าจะพบคนงานที่รอดชีวิตในโพรงใต้ซากอาคารนั้น ผู้เชี่ยวชาญประเมินว่าไม่น่าจะมีโพรงขนาดใหญ่หลงเหลืออยู่ เนื่องจากอาคารมีทั้งหมด 30 ชั้น สูง 90 เมตร และมีน้ำหนักมหาศาล เมื่อถล่มลงมาก็ได้ทับถมกันจนแน่นไปถึงชั้นใต้ดิน ถึงขนาดที่หมวกนิรภัยของคนงานที่สามารถรองรับน้ำหนักได้ถึง 400 กิโลกรัม ก็ถูกทับจนแบน
ด้านผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า การปฏิบัติการค้นหายังคงใช้แผนเดิมที่วางไว้ โดยยังไม่มีการปรับเปลี่ยนแผน คาดว่าจะสามารถเข้าถึงบริเวณชั้นหนึ่งของอาคารได้ภายในสิ้นเดือนเมษายนนี้ อย่างไรก็ตาม อุปสรรคสำคัญที่พบในขณะนี้คือพื้นที่จัดเก็บเศษเหล็กและเศษปูนที่ขนย้ายออกมาแล้วในบริเวณของการรถไฟแห่งประเทศไทยเริ่มไม่เพียงพอ จึงต้องประสานขอใช้พื้นที่เพิ่มเติมจากผู้ว่าการรถไฟ ทั้งนี้ เศษซากทั้งหมดจะยังคงอยู่ในความครอบครองของรัฐจนกว่าคดีจะสิ้นสุดลง
ในส่วนของการป้องกันปัญหาน้ำท่วมขังบริเวณชั้นใต้ดินของอาคาร สำนักการระบายน้ำได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำออกจากพื้นที่อย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ ทาง กทม. ได้เปิดศูนย์พักพิงชั่วคราวสำหรับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบและไม่สามารถกลับเข้าที่พักอาศัยเดิมได้ จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ ศูนย์พักพิง กทม., ศูนย์พักพิงโรงเรียนวัดเสมียนนารี เขตจตุจักร และศูนย์พักคอยญาติผู้ประสบภัย เขตจตุจักร พร้อมทั้งเปิดให้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือด้านที่พักผ่านแพลตฟอร์ม Airbnb ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 613 ครัวเรือน
สำหรับศูนย์พักพิงโรงเรียนวัดเสมียนนารี ยังสามารถรองรับผู้เดือดร้อนได้อีก 150 คน ขณะที่ศูนย์พักคอยญาติ เขตจตุจักร มีความจุ 82 คน ปัจจุบันมีผู้เข้าพักแล้ว 75 คน ยังคงเหลือที่ว่างอีก 7 คน