กรมศิลปากร เดินหน้าแผนอนุรักษ์นครประวัติศาสตร์อยุธยา มอบเงินชดเชย 12 ครอบครัว โยกย้ายจากพื้นที่โบราณสถานวัดช้าง

อยุธยา – เมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร เป็นประธานในพิธีมอบเงินชดเชยค่ารื้อถอนให้กับประชาชนจำนวน 12 ราย ตามโครงการโยกย้ายชุมชนบริเวณโดยรอบโบราณสถานวัดช้าง ตำบลประตูชัย อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการอนุรักษ์และพัฒนานครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา พ.ศ.2566-2575 โดยอยู่ในแผนงานที่ 4 ซึ่งมุ่งเน้นการควบคุมการใช้ที่ดิน การโยกย้ายทัณฑสถานบำบัดพิเศษ และการปรับปรุงชุมชนที่มีบ้านเรือนซ้อนทับหรือเบียดบังโบราณสถาน ให้ย้ายไปยังพื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ ซึ่งมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสม เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่สามารถอยู่ร่วมกับโบราณสถานอันทรงคุณค่าได้อย่างกลมกลืน

กรมศิลปากร โดยสำนักศิลปากรที่ 3 พระนครศรีอยุธยา ได้สำรวจและคัดเลือกพื้นที่บริเวณโดยรอบโบราณสถานวัดช้างในการดำเนินการโยกย้ายชุมชน โดยได้ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2565 ดำเนินโครงการขุดค้นและปรับพื้นที่รองรับบริเวณถนนเลี่ยงพระตำหนักสิริยาลัย ใช้งบประมาณ 9.5 ล้านบาท และในปีงบประมาณ 2566 ได้ปรับพื้นที่ต่อเนื่อง พร้อมก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค เช่น ถนน ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ใช้งบประมาณ 4.3 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้สำรวจ จัดทำบัญชีผู้ที่อาศัยอยู่โดยรอบวัดช้าง เพื่อประเมินค่ารื้อถอนตามหลักเกณฑ์

นายพนมบุตร จันทรโชติ อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า สำหรับปีงบประมาณ 2568 กรมศิลปากรจะดำเนินโครงการโยกย้ายบ้านเรือนประชาชนที่ซ้อนทับกับโบราณสถานวัดช้าง จำนวน 12 หลัง ใช้งบประมาณโครงการรวม 2 ล้านบาท ประกอบด้วยกิจกรรมหลักคือ การจ่ายค่าชดเชยค่ารื้อถอนให้กับประชาชน 12 ราย เป็นเงินรวม 992,000 บาท การดำเนินงานทางโบราณคดีที่โบราณสถานวัดช้าง ใช้งบประมาณ 779,000 บาท การปรับปรุงทำความสะอาดพื้นที่และกิจกรรมอื่นๆ 229,000 บาท และการประสานงานกับธนารักษ์พื้นที่พระนครศรีอยุธยา เพื่อให้ผู้ที่โยกย้ายได้รับสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุในพื้นที่รองรับอย่างถูกต้อง

การจ่ายเงินชดเชยค่ารื้อถอนจะแบ่งออกเป็น 2 รอบ โดยรอบแรกในวันที่ 18 เมษายน 2568 ผู้โยกย้ายจะได้รับเงินจำนวนร้อยละ 40 ของราคาประเมินค่ารื้อถอน และต้องดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับจากวันที่ได้รับเงินครั้งแรก หลังจากนั้นจึงจะได้รับเงินส่วนที่เหลืออีกร้อยละ 60 ซึ่งระยะเวลา 60 วันนี้ จะสอดคล้องกับช่วงเวลาที่ผู้โยกย้ายจะได้รับสัญญาเช่าที่ดินราชพัสดุในพื้นที่ใหม่ต่อไป

สำหรับโบราณสถานวัดช้าง ตั้งอยู่ใกล้กับวัดมเหยงคณ์ทางทิศใต้ ไม่ปรากฏหลักฐานประวัติการสร้างที่ชัดเจน แต่จากการขุดแต่งพบว่ามีแผนผังและรูปแบบคล้ายคลึงกับวัดมเหยงคณ์ คือมีเจดีย์ช้างล้อมเป็นประธาน มีเจดีย์รายที่มุมทั้งสี่ มีกำแพงล้อมรอบเจดีย์ประธาน ส่วนพระอุโบสถจะอยู่นอกเขตกำแพงหลัก และมีกำแพงล้อมรอบต่างหาก ซึ่งเป็นการจัดวางผังเช่นเดียวกับวัดมเหยงคณ์ในสมัยแรกสร้าง

นอกจากประติมากรรมรูปช้างปูนปั้นจำนวนมาก ยังพบรูปปั้นยักษ์ สิงห์ และหงส์ จากการศึกษาพบว่าแผนผังวัดช้างมีความคล้ายคลึงกับวัดช้างรอบเมืองกำแพงเพชร ซึ่งมีการประดับบันไดทางขึ้นด้วยรูปสิงห์และยักษ์ในฐานะทวารบาล จากหลักฐานเหล่านี้ สันนิษฐานว่าวัดช้างน่าจะมีความสำคัญควบคู่กับวัดมเหยงคณ์มาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนต้น ซึ่งสร้างขึ้นในรัชกาลสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา) ด้วยตำแหน่งที่ตั้งที่ใกล้เคียงกัน และลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่คล้ายคลึงกัน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *