สธ.เตือน แอนแทรกซ์ มุกดาหาร เสียชีวิต 1 ราย ย้ำ ‘สปอร์เชื้อ’ ฝังดินนานนับ 10 ปี ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง 638 ราย เร่งคุมสถานการณ์

กระทรวงสาธารณสุข และกรมควบคุมโรค แถลงความคืบหน้าสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในจังหวัดมุกดาหาร ยืนยันพบผู้ป่วยสะสม 2 ราย เสียชีวิต 1 ราย เผยโรคนี้เป็นโรคที่ติดจากสัตว์สู่คน ผ่าน 3 ทางหลัก ทั้งการสัมผัส ชำแหละ รับประทานเนื้อดิบ และการหายใจเอา ‘สปอร์เชื้อ’ จากดินและหญ้าที่ปนเปื้อนเข้าร่างกาย ย้ำสปอร์สามารถฝังตัวในดินได้นานหลายปี พร้อมเร่งควบคุมและเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงสูง

เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2568 ที่กระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์วีระวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิและโฆษกกรมควบคุมโรค แถลงชี้แจงกรณีโรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) ที่พบผู้ป่วยในจังหวัดมุกดาหาร โดยระบุว่า โรคแอนแทรกซ์ หรือที่เคยเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคติดเชื้อแบคทีเรียที่พบในสัตว์ โดยเฉพาะสัตว์เท้ากีบ เช่น วัว ควาย แพะ แกะ สัตว์ที่ป่วยจะมีอาการไข้ ซึม ไม่กินอาหาร หรือเจ็บป่วยผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ

นายแพทย์วีระวัฒน์ กล่าวถึง 3 ช่องทางหลักที่มนุษย์สามารถรับเชื้อจากสัตว์ป่วยได้ คือ

  1. การสัมผัส: เกิดจากการสัมผัสหรือชำแหละเนื้อสัตว์ที่ตายแล้วและมีเชื้อแอนแทรกซ์อยู่ โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายผ่านบริเวณบาดแผล หลังจากรับเชื้อประมาณ 7 วัน อาจเริ่มแสดงอาการเป็นแผลที่ผิวหนัง และต่อมน้ำเหลืองบริเวณใกล้เคียง เช่น ที่รักแร้ อาจโตขึ้น
  2. การรับประทาน: เกิดจากการรับประทานเนื้อสัตว์ป่วยแบบดิบหรือปรุงไม่สุก ทำให้เชื้อเข้าสู่ทางเดินอาหาร อาจเกิดแผลในลำไส้ มีอาการปวดท้องคล้ายอาหารเป็นพิษ มีไข้สูง หรือติดเชื้อในกระแสเลือดได้
  3. การหายใจ: เกิดจากการหายใจเอาสปอร์เชื้อเข้าสู่ร่างกาย แม้จะพบน้อย แต่เป็นรูปแบบที่อันตราย โดยสปอร์เชื้อแอนแทรกซ์สามารถฝังตัวอยู่ในพื้นดินที่สัตว์ป่วยอาศัย หรือตายได้นานหลายเดือนถึงหลายปี หากมีการทำให้สปอร์ที่อยู่ในดินหรือหญ้ากระจายออกมา แล้วสูดดมเข้าไป เชื้อก็จะเข้าไปในปอด ทำให้เกิดภาวะแอนแทรกซ์ที่ปอดได้

“ดังนั้น มี 3 ทางหลักที่เชื้อเข้าสู่มนุษย์ คือ สัมผัส รับประทาน และหายใจ โดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดมุกดาหารและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ขอให้ประชาชนระมัดระวัง ให้สังเกตอาการสัตว์เลี้ยงในกลุ่มเสี่ยง หากมีอาการเจ็บป่วยผิดปกติ ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์จังหวัดมาตรวจสอบ ส่วนกรณีที่ท่านป่วยและมีประวัติเสี่ยง เช่น การชำแหละหรือรับประทานเนื้อสัตว์ดิบ ให้รีบมาพบแพทย์และแจ้งประวัติทันที” นายแพทย์วีระวัฒน์ กล่าว

นายแพทย์วีระวัฒน์ ให้คำแนะนำเพิ่มเติมว่า สำหรับประชาชนที่ต้องสัมผัสกับเนื้อสัตว์ ควรใส่ถุงมือป้องกัน และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัส ส่วนการรับประทานอาหาร ควรปรุงเนื้อสัตว์ให้สุกอย่างทั่วถึงเพื่อทำลายเชื้อแบคทีเรีย สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อแอนแทรกซ์ แพทย์จะให้ยาปฏิชีวนะ และในกรณีผู้สัมผัสเสี่ยงสูง สามารถให้ยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรือลดความเสี่ยงต่อความรุนแรงของโรคได้

ด้านสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในจังหวัดมุกดาหาร ถือว่าเข้าข่ายโรคระบาดแล้ว เนื่องจากพบผู้ป่วยมากกว่า 1 ราย ย้ำว่าเป็นโรคที่ติดต่อจากสัตว์สู่คน ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน โดยขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 2 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งมีประวัติเกี่ยวข้องกับการสัมผัสและชำแหละเนื้อวัว ขณะเดียวกัน มีการค้นหากลุ่มเสี่ยงจากการสัมผัสชำแหละเนื้อวัว ผู้รับประทานเนื้อดิบ และผู้สัมผัสร่วมบ้านกับผู้ชำแหละเนื้อ รวม 638 ราย และทุกรายได้รับยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อหลังการสัมผัสแล้ว

สำหรับการดูแลสัตว์ในพื้นที่เสี่ยง ทางจังหวัดได้กำหนดรัศมีเฝ้าระวัง 5 กิโลเมตร พบว่ามีวัว 1,222 ตัว ซึ่งได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคแล้ว ส่วนวัวที่เข้าข่ายสงสัยป่วยอีก 124 ตัว ได้รับการฉีดยาปฏิชีวนะเพื่อรักษา

ทางด้าน สพ.ญ.เสาวพักตร์ ฮิ้นจ้อย นายสัตวแพทย์ทรงคุณวุฒิ กล่าวเสริมว่า จากการสอบสวนโรคร่วมกับปศุสัตว์จังหวัด พบว่าวัวที่เป็นต้นเหตุของการติดเชื้ออยู่ในพื้นที่จังหวัดมุกดาหาร ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการตรวจสอบดินและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่เพื่อหาสปอร์ของเชื้อ ย้ำเตือนประชาชนว่า หากพบสัตว์ตายผิดปกติ ห้ามผ่าซากโดยเด็ดขาด และให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ทันที นอกจากนี้ นายอำเภอดอนตาล ได้ประกาศห้ามเคลื่อนย้ายสัตว์และเนื้อสัตว์ออกนอกพื้นที่แล้ว ส่วนการบริโภคเนื้อสัตว์ในพื้นที่สามารถทำได้ แต่ต้องปรุงสุกและเลือกจากแหล่งที่เชื่อถือได้ซึ่งมีมาตรฐานการเลี้ยง

สพ.ญ.เสาวพักตร์ อธิบายเพิ่มเติมว่า การติดเชื้อแอนแทรกซ์พบได้ในสัตว์หลายชนิด แต่ วัว ควาย แพะ แกะ มีความไวต่อเชื้อสูงกว่า ทำให้ติดเชื้อง่าย ส่วน หมู แมว หมา จะมีความทนทานมากกว่าและไม่ค่อยแพร่เชื้อ การเฝ้าระวังในคนจะดำเนินการไปอย่างน้อย 60 วัน ส่วนในสัตว์จะมีการให้วัคซีนและเฝ้าระวังต่อเนื่องนานถึง 5 ปี โดยเฉพาะในพื้นที่ที่เคยพบสปอร์เชื้อ เนื่องจากสปอร์สามารถอยู่ในดินได้นานเป็น 10 ปี

“สิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือบริเวณดินที่มีเลือดสัตว์ป่วยไหลออกมา เพราะเลือดมีเชื้อแอนแทรกซ์อยู่สูง เป็นจุดอันตรายที่ต้องจัดการด้วยการกลบฝังและใช้ปูนขาว ส่วนมูลหรือปุ๋ยคอกไม่ค่อยน่ากังวลเท่า สปอร์เชื้อมีน้ำหนักจึงไม่ฟุ้งกระจายง่าย ส่วนใหญ่จะตกบนพื้นดิน ดังนั้นการป้องกันคือหลีกเลี่ยงการสัมผัสหญ้าหรือดินในบริเวณที่สัตว์ตาย และระวังอย่าให้ผิวหนังที่มีบาดแผลไปสัมผัสกับพื้นที่เหล่านั้น” สพ.ญ.เสาวพักตร์ กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *