แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี ชี้ ‘ระบบระหว่างประเทศ’ กำลังพังทลาย เผชิญความท้าทายหนักทั่วโลกและในไทย

กรุงเทพฯ – วันที่ 29 เมษายน 2568 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้เปิดตัวรายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประจำปี 2567/68 ซึ่งเป็นการรวบรวมและวิเคราะห์สถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นในหลากหลายพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงผลกระทบต่อประเทศไทย รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มที่น่ากังวลอย่างยิ่ง โดยระบุว่า “ระบบระหว่างประเทศ” ซึ่งเคยเป็นกลไกสำคัญในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน กำลังเผชิญกับความท้าทายที่หนักหน่วง และมีสัญญาณของการ “พังทลาย” จากปัจจัยหลายด้าน ทั้งความขัดแย้ง นโยบายของรัฐ และการกระทำของประเทศมหาอำนาจ

นางพุทธณี กางกั้น ประธานกรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย เปิดเผยว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา โลกไม่ได้เผชิญเพียงวิกฤตสงคราม การละเมิดสิทธิ หรือวิกฤตสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพังทลายของระบบระหว่างประเทศที่ออกแบบมาเพื่อปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ รายงานประจำปีระบุว่า ทั่วโลกมีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 110 ล้านคน ขณะที่อย่างน้อย 21 ประเทศออกกฎหมายจำกัดเสรีภาพการแสดงออก และมีนักข่าวอย่างน้อย 124 คนถูกสังหารจากการปฏิบัติหน้าที่ โดยกว่าสองในสามเป็นนักข่าวปาเลสไตน์ในฉนวนกาซา

นางพุทธณีชี้ว่า การกระทำของอิสราเอลในฉนวนกาซาอาจเข้าข่ายอาชญากรรมร้ายแรง และน่ากังวลที่ประเทศมหาอำนาจบางส่วน เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ และประเทศในสหภาพยุโรป ยังมีบทบาทสนับสนุนและใช้อำนาจยับยั้งในเวทีสหประชาชาติเพื่อปกป้องอิสราเอล

สำหรับสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รายงานยังเน้นย้ำถึงความรุนแรงที่ต่อเนื่องในเมียนมา หลังจากการรัฐประหาร 4 ปี กองทัพยังคงโจมตีพลเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อย่างไม่เลือกเป้าหมาย ทำให้สถานที่เหล่านี้กลายเป็นเป้าหมายของการสู้รบ นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลการสังหารชาวโรฮิงญาอย่างเป็นระบบ การผลักดันออกนอกประเทศ และการควบคุมในค่ายที่ขาดมนุษยธรรม แม้ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) จะออกหมายจับ พล.อ. อาวุโส มิน อ่อง หล่าย ในข้อหาอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ แต่ประเทศในภูมิภาคนี้ รวมถึงประเทศไทย ยังคงไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

“มีการจัดส่งเชื้อเพลิงอากาศยานครั้งใหม่ไปยังเมียนมา แม้จะมีเสียงเรียกร้องนานาชาติให้ตัดช่องทางทรัพยากรที่กองทัพใช้โจมตีทางอากาศโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ไทยเพิกเฉยต่ออาชญากรรมในเมียนมา เป็นการปล่อยให้วัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดฝังรากลึกยิ่งขึ้น” นางพุทธณีกล่าว

ในประเด็นสิ่งแวดล้อม รายงานระบุว่า ปี 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์โลก ซึ่งส่งผลกระทบหนักที่สุดต่อประเทศในซีกโลกใต้ที่มีส่วนสร้างปัญหาน้อยที่สุด ขณะเดียวกัน เทคโนโลยีถูกใช้เป็นเครื่องมือควบคุมผ่านสปายแวร์ และมีการทำโฆษณาชวนเชื่อที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

“การล่มสลายของระบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศไม่ใช่สิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เราเห็นการต่อต้านเกิดขึ้นทั่วโลก ผู้คนยังคงยืนหยัดเรียกร้องต่อการถูกละเมิดสิทธิ” นางพุทธณีกล่าวย้ำ พร้อมเรียกร้องให้ประเทศไทยในฐานะสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ เลือกที่จะลงมือทำเพื่อไม่ให้เสียงของผู้ถูกละเมิดถูกกลบหายไป

ด้านนายชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงสถานการณ์ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกว่า มีความก้าวหน้าในบางส่วน เช่น การคุ้มครองสิทธิผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศในไทย ญี่ปุ่น เกาหลี และการรับรองสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองในไต้หวัน แต่ปัญหาหลายด้านยังคงอยู่ เช่น การปราบปรามผู้ใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ ผู้ขอลี้ภัยยังคงถูกควบคุมตัวหรือส่งกลับไปเผชิญอันตราย และนักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมยังถูกประหัตประหาร

“ปี 2567 ที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเสมือนได้ก้าวหน้าไปสองก้าว แต่แล้วก็ก้าวถอยหลังกลับมาอีก 3 ก้าว รัฐบาลต่างๆ เพิกเฉย หรือแม้แต่ร่วมมือกันละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายชนาธิปกล่าว และชี้ถึงแนวโน้มที่น่าห่วงในกลุ่มประเทศลุ่มน้ำโขง (ลาว เวียดนาม กัมพูชา) ที่แม้จะมีกลุ่มทุนไหลเข้า แต่ยังขาดธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลด้านสิทธิฯ นำไปสู่ปัญหาตั้งแต่การไล่รื้อ ไปจนถึงการค้ามนุษย์ รัฐบาลในกลุ่มนี้ยังปราบปรามนักกิจกรรมและผู้เห็นต่างอย่างรุนแรง

นายบัญชา ลีลาเกื้อกูล ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย สรุปสถานการณ์ในไทยว่า ยังคงเผชิญความท้าทายด้านสิทธิมนุษยชน แม้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แต่โครงสร้างยังจำกัดพื้นที่ภาคประชาสังคม และไม่ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนเท่าที่ควร เช่น การส่งตัวชาวอุยกูร์กลับจีน การต้อนรับผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา และการใช้มาตรา 112 ดำเนินคดีกับประชาชนและนักวิชาการต่างชาติ

นายบัญชากล่าวถึงประเด็นน่าห่วงอื่นๆ ในไทย อาทิ การละเมิดสิทธิผู้ลี้ภัย (กรณีอุยกูร์และ Mi Kwin Bedap) การดำเนินคดีกับประชาชนกว่า 1,960 คนจากการชุมนุม/แสดงออกทางการเมือง โดยอย่างน้อย 279 คนถูกดำเนินคดี ม.112 ซึ่ง 29 คนยังถูกคุมขังระหว่างพิจารณา รวมถึงกรณีจำคุก นายมงคล หรือ “บัสบาส” กว่า 54 ปี และ นายอานนท์ นำภา กว่า 22 ปี ตลอดจนกรณีการเสียชีวิตของ น.ส. เนติพร หรือ “บุ้ง” จากการอดอาหารประท้วง สถานการณ์เหล่านี้ตอกย้ำความเปราะบางของเสรีภาพการแสดงออกและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ในไทย และความไร้ความคืบหน้าในการสอบสวน

นอกจากนี้ รายงานยังชี้ถึงมติศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคก้าวไกลว่าเป็นลิดรอนสิทธิประชาชน และสะท้อนความย้อนแย้งกับคำมั่นต่อ UN รวมถึงกรณีการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม เช่น นายรอนิง ดอเลาะ นักสิทธิมนุษยชนชายแดนใต้ และการหมดอายุความคดีสลายการชุมนุม สภ.ตากใบ โดยไม่มีผู้ถูกดำเนินคดี ซึ่งสะท้อนวัฒนธรรมลอยนวลพ้นผิดที่ฝังรากลึก

“การลอยนวลพ้นผิดเป็นหนึ่งในรากของปัญหาสิทธิมนุษยชนในไทย หากไม่เริ่มจากความจริงและความยุติธรรม โอกาสในการฟื้นฟูความไว้วางใจของประชาชนจะหายไปอย่างถาวร” นายบัญชากล่าว พร้อมชี้ถึงความก้าวหน้าในการผ่านกฎหมายสมรสเท่าเทียม แต่เน้นย้ำว่านักปกป้องสิทธิฯ โดยเฉพาะผู้หญิงและผู้มีความหลากหลายทางเพศ ยังคงถูกคุกคามทางดิจิทัล การสอดแนม โดย กอ.รมน. และปฏิบัติการ “ทีมไซเบอร์” ของกองทัพไทย ซึ่งรวมถึงการติดตามแอมเนสตี้ ประเทศไทยด้วย

เพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ แอมเนสตี้ฯ มีข้อเสนอแนะถึงทางการไทย ได้แก่:

  • ยุติการดำเนินคดีต่อผู้ชุมนุมประท้วงโดยสงบ และปรับกระบวนการประกันตัว
  • ปฏิรูปร่างกฎหมายคุ้มครองสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศ และยกเลิกข้อจำกัดที่เลือกปฏิบัติ
  • ปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนจากการคุกคาม
  • สอบสวนการสังหารนอกกระบวนการยุติธรรม และยุติการลอยนวลพ้นผิด
  • แก้ไขกฎหมายต่อต้านการทรมานและการบังคับให้สูญหาย
  • รับรองสิทธิในการลี้ภัยและไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับประเทศเสี่ยง
  • เคารพและส่งเสริมสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง

นายบัญชากล่าวทิ้งท้ายว่า ในโลกที่ระบบสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศกำลังสั่นคลอน แอมเนสตี้ฯ ยังคงยืนหยัดต่อสู้กับความอยุติธรรมในทุกรูปแบบ และเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลกรับฟังเสียงประชาชน ยุติการกดขี่ และปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เพราะสิทธิมนุษยชนคือชีวิต ความหวัง และอนาคตของผู้คน

ภายหลังการแถลง แอมเนสตี้ฯ ได้ส่งมอบรายงานฯ และข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาลไทย โดยมีนายอานนท์ ยังคุณ หัวหน้ากลุ่มงานพัฒนาระบบและสร้างหลักประกันสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ เป็นผู้แทนรับมอบ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *