กมธ.เกษตรฯ ไม่วางใจคำชมสหรัฐฯ! จี้ 2 กระทรวงแจงแผนรับมือ ‘ภาษีทรัมป์’ หวั่นเกษตรกรรับผลกระทบ

รัฐสภา, 14 พฤษภาคม 2568 – คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การเกษตรและสหกรณ์ สภาผู้แทนราษฎร แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับภาคเกษตรกรไทย จากประเด็นกำแพงภาษีสินค้าเกษตรของสหรัฐอเมริกา แม้จะมีสัญญาณที่ดีจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ที่ชื่นชมข้อเสนอของไทยก็ตาม

ในการประชุม กมธ.เกษตรฯ ที่รัฐสภาในวันนี้ นายณรงเดช อุฬารกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน ในฐานะประธาน กมธ. เปิดเผยก่อนเริ่มการประชุมว่า กมธ. ได้ติดตามสถานการณ์ภาษีของสหรัฐฯ และมองเห็นความจำเป็นเร่งด่วนในการเตรียมความพร้อมรับมือผลกระทบต่อภาคเกษตรไทย จึงได้เชิญรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เข้ามาชี้แจงถึงแนวทางการเจรจา มาตรการรองรับการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตร รวมถึงมาตรการเตรียมการช่วยเหลือเกษตรกร

นายณรงเดช กล่าวถึงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้กล่าวในการเสวนาที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย ชื่นชมข้อเสนอของประเทศไทยว่าเป็นสิ่งที่ดีมาก ว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถวางใจได้เต็มที่ว่าผลเจรจาขั้นสุดท้ายจะเป็นอย่างไร เพราะเป็นเพียงข้อเสนอของไทยฝ่ายเดียวและยังต้องรอผลการเจรจาอย่างเป็นทางการ

สิ่งที่ยังคงน่ากังวลคือ ข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ที่ต้องการเพิ่มปริมาณการส่งสินค้าเกษตรเข้ามายังประเทศไทย ซึ่งยังไม่ทราบว่าฝ่ายไทยจะมีการตอบรับในประเด็นนี้อย่างไร ดังนั้น รัฐบาลจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งวางแผนรับมือผลกระทบอย่างรอบด้าน ทั้งต่อสินค้าเกษตรที่ไทยจะส่งออกไปยังสหรัฐฯ และสินค้าที่สหรัฐฯ จะส่งเข้ามา รวมถึงสินค้าอื่นๆ ที่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อม.

ประธาน กมธ.เกษตรฯ ยังแสดงความกังวลเป็นพิเศษต่อผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเกษตรกร โดยระบุว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรจากผลการเจรจาต่างๆ เกรงว่าหากมีกองทุนช่วยเหลือ ก็อาจจะกลายเป็นเงินช่วยเหลือแบบเบี้ยหัวแตกที่ไม่มีรายละเอียดและไม่สามารถแก้ปัญหาให้เกษตรกรได้อย่างแท้จริง

นอกจากนี้ ความล่าช้าในการเจรจาที่ผ่านมาเป็นระยะเวลา 1 เดือนแล้ว ทั้งที่สหรัฐฯ ได้ขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการทางภาษีออกไปอีก 90 วัน ซึ่งจะครบกำหนดในเดือนสิงหาคมนี้ ทำให้เกิดความกังวลว่า กระบวนการเจรจาอาจจะเสร็จสิ้นไม่ทันกรอบเวลาดังกล่าว และอาจไม่ทันต่อการนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนครบกำหนด 90 วัน ซึ่งจำเป็นต้องใช้ระยะเวลาในการพิจารณา ทำให้ประเทศไทยอาจต้องเผชิญกับผลกระทบจากภาษีของสหรัฐฯ เป็นช่วงระยะเวลาหนึ่ง.

นายณรงเดช ย้ำว่า ความไม่ชัดเจนและการขาดการสื่อสารจากรัฐบาลในประเด็นนี้ กำลังสร้างความไม่แน่นอนและความกังวลให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเกษตรกร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุม กมธ.การเกษตรฯ ในวันนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งผู้แทนจากกรมการค้าต่างประเทศ และกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เข้ามาชี้แจงตามคำเชิญ แต่ทางด้านกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กลับไม่ส่งตัวแทนเข้าร่วมการประชุมเพื่อชี้แจงข้อมูลต่อกรรมาธิการฯ แต่อย่างใด.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *