ปัญหาสารพิษเหมืองแร่ ‘น้ำกก-น้ำสาย’ ขึ้นเวทีสิทธิมนุษยชนอาเซียน (AICHR) – ภาคประชาชน-สส.กดดันรัฐบาลไทยเร่งแก้ปัญหาข้ามแดน

จาการ์ตา, อินโดนีเซีย – ปัญหามลพิษข้ามพรมแดนในลำน้ำกกและลำน้ำสาย จังหวัดเชียงราย ซึ่งมีสาเหตุจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำนอกประเทศไทย ได้ถูกนำเข้าหารือในที่ประชุมคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) แล้ว โดยผู้แทนไทยได้ยกประเด็นนี้ขึ้นพร้อมเรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมมือแก้ไขปัญหา ซึ่งกระทบต่อสิทธิสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่อย่างรุนแรง ขณะเดียวกันในประเทศไทย ภาคประชาชนและสมาชิกรัฐสภาแสดงความผิดหวังต่อการตอบสนองของรัฐบาล และเรียกร้องให้เร่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อแก้ไขวิกฤตนี้

การประชุม AICHR ครั้งที่ 41 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-16 พฤษภาคม 2568 ณ สำนักงานเลขาธิการอาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยหนึ่งในประเด็นสำคัญที่ที่ประชุมให้ความเห็นชอบคือ ร่างปฏิญญาสิทธิสิ่งแวดล้อมที่ปลอดภัย สะอาด สุขภาพดี และยั่งยืน ซึ่งไทยเป็นผู้นำในการยกร่างและเปิดโอกาสให้ภาคส่วนต่างๆ มีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

ในการประชุมครั้งนี้ ผศ.ดร.ภาณุภัทร จิตเที่ยง ผู้แทนไทยใน AICHR ได้นำเสนอแผนงานและประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่ไทยจะขับเคลื่อนในแผนงาน 5 ปีฉบับใหม่ของ AICHR (พ.ศ. 2569 – 2574) รวมถึงสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน พร้อมทั้งยกข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนข้ามพรมแดน โดยเฉพาะปัญหามลพิษในลำน้ำกกและลำน้ำสายอันเป็นผลจากการทำเหมืองแร่ในพื้นที่ต้นน้ำซึ่งอยู่นอกดินแดนไทย ผศ.ดร.ภาณุภัทร ได้เรียกร้องให้ประเทศที่เกี่ยวข้องร่วมมือกับไทยในการแก้ปัญหานี้ ซึ่งเป็นการละเมิดสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมของคนในพื้นที่ และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการจัดทำแผนปฏิบัติการสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมระดับภูมิภาค

ขณะที่การขับเคลื่อนในประเทศ คณะทำงานภาคประชาชนลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำสาย ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2568 เพื่อขอให้แก้ไขปัญหามลพิษข้ามแดนในแม่น้ำทั้งสองเป็นกรณีเร่งด่วน โดยเสนอแนวทาง 6 ข้อ อาทิ การตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาโดยเฉพาะ, จัดตั้งศูนย์ตรวจสอบคุณภาพน้ำที่เชียงราย, สร้างความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านและกองกำลังในพื้นที่เพื่อตรวจสอบแหล่งที่มาของสารปนเปื้อน, สร้างระบบสื่อสารสาธารณะที่โปร่งใส, ขยายขอบเขตการศึกษาผลกระทบข้ามพรมแดน และเปิดการเจรจา 4 ฝ่าย (ไทย, เมียนมา, กองกำลังชาติพันธุ์, จีน) เพื่อหาทางออกร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม คำตอบจากสำนักนายกรัฐมนตรีที่แจ้งกลับมายังคณะทำงานฯ เพียงแค่ระบุว่าได้ประสานส่งเรื่องให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

น.ส.เพียรพร ดีเทศน์ เลขาธิการมูลนิธิแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) แสดงความเห็นว่าจดหมายตอบนี้เป็นคำตอบที่น่าผิดหวังอย่างยิ่ง สะท้อนว่ารัฐบาลยังไม่ได้ให้น้ำหนักและความใส่ใจกับปัญหาวิกฤตของประชาชนนี้เท่าที่ควร เธอกล่าวว่าผลการตรวจคุณภาพน้ำของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมพบการปนเปื้อนของโลหะหนัก โดยเฉพาะสารหนู (Arsenic) ในระดับที่น่ากังวล โดยล่าสุดพบในแม่น้ำสายสูงถึง 0.049 มิลลิกรัมต่อลิตร ซึ่งเกินค่ามาตรฐานเกือบ 5 เท่า และเริ่มพบเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงแสน แล้ว เธอกล่าวเตือนว่าหากรัฐบาลยังคงลอยตัว อาจเท่ากับปล่อยให้การทำเหมืองที่ต้นน้ำซึ่งมีการลงทุนจากต่างชาติ สร้างหายนะต่อระบบนิเวศและสุขภาพของประชาชน

ด้านนายมานพ คีรีภูวดล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน กล่าวเสริมว่า ปัญหาสารพิษในแม่น้ำกกและแม่น้ำสายเป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลควรรีบตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ แต่กลับไม่มีสัญญาณการดำเนินการที่ชัดเจน แม้เจ้าหน้าที่ระดับจังหวัดจะพยายามเต็มที่แล้ว แต่เรื่องนี้เป็นประเด็นระหว่างประเทศที่ใหญ่เกินอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น รัฐบาลควรเข้ามาดำเนินการอย่างจริงจัง

นายมานพ เสนอแนะว่าอย่างน้อยรัฐบาลควรใช้ช่องทางทางการทูตและความมั่นคง เพื่อขอความร่วมมือจากกลุ่มผู้ทำเหมือง ไม่ว่าจะเป็นกองกำลังว้า เมียนมา หรือนักลงทุนจากจีน ให้ระงับการดำเนินการชั่วคราวจนกว่าจะมีการเจรจาหาทางออกร่วมกัน พร้อมเน้นย้ำว่าฝ่ายความมั่นคงมีช่องทางสื่อสารกับกองกำลังชาติพันธุ์อยู่แล้ว และรัฐบาลสามารถใช้ความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาลจีนในการหารือถึงผลกระทบจากการลงทุนของชาวจีน เพื่อป้องกันไม่ให้วิกฤตมลพิษนี้รุนแรงขึ้นอีกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูฝน ซึ่งมีโอกาสที่จะพัดพาตะกอนดินปนเปื้อนสารพิษลงสู่แม่น้ำจำนวนมาก.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *