ข่าวดีภาคเกษตร! รัฐ-เอกชน ผนึกกำลัง “ปลุกชีพเหมืองโปแตช” ผลิตปุ๋ยไทย ลดต้นทุนนำเข้า เพิ่มความมั่นคงอาหาร
กรุงเทพฯ – ข่าวดีสำหรับภาคเกษตรกรรมไทย เมื่อรัฐบาลและภาคเอกชนแสดงเจตจำนงร่วมกันในการเร่งรัดฟื้นฟูโครงการเหมืองแร่โปแตช เพื่อเป้าหมายในการผลิตแม่ปุ๋ยภายในประเทศ ลดการพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลดีต่อต้นทุนการผลิตของเกษตรกร และเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ
นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ในฐานะนายกสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย เปิดเผยภายหลังการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 2566 และ 2567 ของสมาคมฯ ณ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชั่น ว่า ปัจจุบันประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศเกษตรกรรมยังต้องนำเข้าแม่ปุ๋ยหลักจากต่างประเทศกว่า 90% ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน
การลดการนำเข้าและสามารถผลิตแม่ปุ๋ยในประเทศได้ จะช่วยลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตรโดยเฉพาะข้าวและพืชอาหารอื่น ๆ ซึ่งจะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และยังเอื้อต่อการวางระบบโลจิสติกส์ใหม่ ช่วยลดต้นทุนในระบบการขนส่งอีกทางหนึ่ง โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดินชี้ว่า การลดต้นทุนปุ๋ยจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรได้ไม่ต่ำกว่า 15-30%
ด้านนายสมัย ลี้สกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยถึงความคืบหน้าล่าสุดที่น่าจับตาว่า ภาคเอกชนจะเริ่มกลับมาสานต่อโครงการเหมืองแร่โปแตชอีกครั้ง หลังชะลอไปกว่า 20 ปี โดยเชื่อว่าในไม่ช้า ประเทศไทยจะสามารถผลิตปุ๋ยใช้เองได้
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีแหล่งแร่โปแตชที่สำคัญในพื้นที่จังหวัดโคราช อุดรธานี และชัยภูมิ โดยมีบริษัทที่ได้รับสัมปทานแล้ว 3 ราย โครงการที่ชัยภูมิของบริษัท อาเซียนโปแตช ชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เป็นโครงการใหญ่ที่ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ มีแผนกำลังผลิตโปแตชประมาณ 1.2 ล้านตันต่อปี ขณะที่ไทยนำเข้าโปแตชเพียง 7-8 แสนตันต่อปี
นายสมัย กล่าวว่า โครงการนี้จะช่วยลดการนำเข้าได้อย่างมหาศาล ลดต้นทุนค่าขนส่งให้เกษตรกรไม่ต่ำกว่า 15-20% และสามารถจัดส่งแม่ปุ๋ยให้ถึงมือผู้ใช้ภายใน 2 วัน เทียบกับการนำเข้าที่ต้องรอนานนับเดือน นอกจากนี้ หากมีการส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มและใช้แม่ปุ๋ยสั่งตัดตามคำแนะนำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยโดยรวมได้ราว 30-40%
อย่างไรก็ตาม นายสมัยยอมรับว่า ที่ผ่านมาโครงการประสบปัญหาเรื่องการขับเคลื่อนนโยบายที่ไม่ต่อเนื่อง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมบ่อยครั้ง ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญ ทำให้การผลักดันขาดความต่อเนื่อง และต้องเริ่มต้นเรียนรู้งานใหม่อยู่เสมอ จึงเรียกร้องให้รัฐบาลให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการนี้อย่างจริงจัง
นายสมัยย้ำว่า แม้จะมีอุปสรรคด้านการเมืองบ้าง แต่ภาคเอกชนยังคงเดินหน้าผลักดันเต็มที่ เพราะมองเห็นผลตอบแทนในมุมของความมั่นคงทางอาหาร การสร้างงาน และต่อยอดสู่อุตสาหกรรมอื่น โครงการโปแตชจะเป็นฐานสำคัญในการสร้างระบบปุ๋ยของไทยให้มั่นคงและพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว
ด้าน นายรัสชัย เหรียญพาณิชย์ กรรมการสมาคมดินและปุ๋ยแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อาร์ พี เอ็น อกริคัลเจอร์ จำกัด เสริมว่า ต้นทุนปุ๋ยเป็นปัจจัยการผลิตหลักของเกษตรกร โดยเฉพาะข้าว ซึ่งเป็นสินค้าส่งออกสำคัญ สัดส่วนต้นทุนปุ๋ยมีมากกว่าครึ่งหนึ่งของการผลิตข้าว หากต้นทุนยังสูง ไทยจะแข่งขันกับคู่แข่งได้ยาก และยังมีความเสี่ยงด้านซัพพลายในอนาคต
นายรัสชัยเสนอว่า ประเทศไทยควรให้ความสำคัญกับเรื่องความมั่นคงด้านปุ๋ยมากขึ้น อาจพิจารณาแนวคิดการตั้งกระทรวงปุ๋ยเฉพาะด้านเช่นเดียวกับประเทศอินเดีย หรือเริ่มต้นจากการสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่เรามีอยู่ก่อนอย่างโปแตช เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตแม่ปุ๋ยตัวอื่น ๆ ในอนาคต