ลูกจ้าง 600 ชีวิต บุก ก.แรงงาน ยื่น 4 ข้อ จี้แก้กฎประกันสังคม-กองทุน เลิกกลั่นแกล้งนายจ้าง

ลูกจ้างกว่า 600 คน รวมตัวหน้ากระทรวงแรงงาน ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีฯ จี้แก้ปัญหาถูกนายจ้างกลั่นแกล้ง พร้อมเสนอ 4 ข้อเรียกร้องสำคัญ หวังปฏิรูปสิทธิประโยชน์ประกันสังคมและกองทุนต่างๆ ให้ความเป็นธรรมกับผู้ใช้แรงงานมากขึ้น โดยเฉพาะปมถูกเลิกจ้างแต่ไม่ได้ค่าชดเชยและเสียสิทธิรับเงินว่างงาน

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2568 นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย ประธานกลุ่มแรงงานเพื่อสังคม ได้นำสมาชิกกลุ่มแรงงานฯ จากหลายจังหวัด อาทิ พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี กรุงเทพมหานคร และปทุมธานี รวมกว่า 600 คน เดินทางมาชุมนุมที่กระทรวงแรงงาน เพื่อยื่นหนังสือข้อเรียกร้องด้านแรงงานต่อ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

โดยนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ พร้อมด้วยนายอารี ไกรนรา เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และนายภูมิพัฒน์ เหมือนจันทร์ โฆษกกระทรวงแรงงาน รวมถึงตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน ได้เข้ารับหนังสือข้อเรียกร้องดังกล่าวจากกลุ่มผู้ชุมนุม

นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย เปิดเผยว่า กลุ่มแรงงานเพื่อสังคมได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากจากลูกจ้าง เกี่ยวกับการใช้สิทธิตามกฎหมายประกันสังคมและกฎหมายคุ้มครองแรงงาน ซึ่งปัญหาเหล่านี้หลายครั้งน่าจะสามารถแก้ไขได้ หากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความเข้าใจปัญหาและบทบาทหน้าที่ของตนเอง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของลูกจ้างเป็นสำคัญ ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มจึงได้มายื่นหนังสือพร้อมข้อเรียกร้องรวม 4 ข้อ ดังนี้

1. เรื่องเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง: เสนอให้พิจารณาแก้ไขระเบียบการจ่ายเงินกองทุนสงเคราะห์ลูกจ้าง จากเดิมเป็นการจ่ายตามหลักเกณฑ์ ให้แก้ไขเป็นการจ่ายในอัตราร้อยละ 100 ตามสิทธิที่ลูกจ้างพึงได้รับตามคำสั่งของพนักงานตรวจแรงงาน เพื่อให้ลูกจ้างได้รับเงินช่วยเหลือเต็มตามสิทธิ์

2. เรื่องกองทุนประกันสังคม กรณีประโยชน์ทดแทนการว่างงาน: เสนอให้ยกเลิกสาเหตุการสิ้นสุดความเป็นผู้ประกันตน กรณีปลดออก หรือ ไล่ออก (โค้ด R5) ซึ่งหมายถึงการออกจากงานโดยมีความผิด และให้ยกเลิกเงื่อนไขการรายงานตัวของผู้ประกันตน เพื่อลดปัญหาการกลั่นแกล้งจากนายจ้าง

นายชาญศิลป์ ยกตัวอย่างว่า ปัญหานี้พบบ่อยในกิจการรักษาความปลอดภัย (รปภ.) ที่นายจ้างบางรายใช้วิธีบีบบังคับ หากลูกจ้างเรียกขอเงินค้างจ่าย เช่น ค่าจ้าง นายจ้างจะไม่จ่ายและจะแจ้งกับประกันสังคมว่าเป็นการลาออกเอง แต่หากลูกจ้างยังยืนยันเรียกค่าจ้าง นายจ้างก็จะแจ้งว่าลูกจ้างออกจากงานโดยมีความผิด ทำให้เสียสิทธิรับเงินว่างงาน ลูกจ้างจำนวนมากจึงจำใจต้องยอมสละสิทธิค่าจ้างค้างจ่ายเพื่อหวังได้เงินว่างงาน ซึ่งเจ้าหน้าที่ประกันสังคมมักไม่ได้ตรวจสอบความผิดของลูกจ้างอย่างละเอียด การยกเลิกกรณี R5 นี้จะทำให้ลูกจ้างทุกคนที่ออกจากงาน ไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใด มีสิทธิได้รับเงินว่างงานเทียบเท่ากัน เป็นการป้องกันการเสียสิทธิจากการกลั่นแกล้ง

3. เรื่องกองทุนเงินชดเชย (กองทุนใหม่): เสนอให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เพิ่มสิทธิประโยชน์ในกรณีที่ 8 คือ สิทธิประโยชน์กรณีนายจ้างไม่จ่ายค่าชดเชยการเลิกจ้าง ด้วยเหตุที่นายจ้างปิดกิจการ ถูกพิทักษ์ทรัพย์ หรือเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยให้จ่ายสิทธิประโยชน์ตามคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน

นายชาญศิลป์ กล่าวว่า กองทุนนี้จะช่วยให้ลูกจ้างที่ถูกเลิกจ้างอย่างไม่เป็นธรรมและไม่ได้รับค่าชดเชย มีแหล่งเงินจากกองทุนฯ นี้เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน มองว่าการตั้งกองทุนนี้จะใช้งบประมาณจากกองทุนประกันสังคม ซึ่งมีเงินสะสมจำนวนมากถึง 2.6 ล้านล้านบาท การจ่ายในส่วนนี้ไม่ถือเป็นภาระใหญ่ และจะช่วยแก้ปัญหาการที่ลูกจ้างต้องออกมาประท้วงเรียกร้องค่าชดเชยจากการถูกลอยแพ

4. แก้ไขนิยามองค์ประกอบการเลิกจ้าง: เสนอให้พิจารณาแก้ไขนิยามองค์ประกอบของการเลิกจ้าง จากเดิมที่มีความซับซ้อน ให้เป็นนิยามที่ชัดเจนคือ “ไม่ให้งานทำ” หรือ “ไม่จ่ายค่าจ้าง”

นายชาญศิลป์ ทรัพย์โนนหวาย กล่าวทิ้งท้ายว่า กลุ่มลูกจ้างที่เดินทางมาวันนี้หลายคนเป็นผู้ที่ถูกเลิกจ้างโดยนายจ้างปิดกิจการหนี ทำให้ไม่มีทางได้รับค่าชดเชย แม้จะฟ้องศาลหรือยึดทรัพย์ก็ไม่สามารถทำได้จริง เนื่องจากนายจ้างไม่มีทรัพย์สินหรือเงินให้ยึด การเรียกร้องในวันนี้มีความหวังอย่างยิ่งที่จะได้รับการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม เพื่อความเป็นธรรมและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของลูกจ้างทุกคน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *