สาวร้อง! ป่วยโควิดโดนบีบออก นายจ้างเบี้ยวค่าแรง-เงินประกัน ด้านคุ้มครองแรงงานชี้ชัด ทำงานแค่ 1 วัน ก็ต้องจ่าย!
ประจวบคีรีขันธ์ – เรื่องราวไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับลูกจ้างรายหนึ่งถูกเปิดเผยขึ้น เมื่อ นางสาวชัญณษา อายุ 31 ปี เข้าร้องทุกข์ต่อสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ หลังถูกนายจ้างซึ่งเป็นเจ้าของร้านอาหารแห่งหนึ่งในอำเภอบางสะพาน ปฏิเสธการจ่ายค่าจ้างที่ค้างอยู่ และไม่คืนเงินประกันที่หักไว้ โดยอ้างว่าลูกจ้างเป็นฝ่ายผิดสัญญา
นางสาวชัญณษา เล่าว่า ตนเริ่มทำงานเป็นเด็กเสิร์ฟที่ร้านอาหารดังกล่าวได้ 14 วัน ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยได้รับค่าจ้างของสัปดาห์แรกไปแล้ว ส่วนค่าจ้างในสัปดาห์ใหม่นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ก็ยังไม่ได้รับ ต่อมาตนเริ่มมีอาการป่วยและตรวจพบว่าติดเชื้อโควิด 19 นายจ้างจึงให้หยุดงานเพื่อรักษาตัวเป็นเวลา 7 วัน
อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะครบกำหนด 7 วัน นายจ้างได้เรียกให้ตนกลับไปทำงาน ทั้งที่อาการป่วยยังไม่หายดี ตนจึงขอลาหยุดเพิ่มอีก 1 วัน แต่นายจ้างไม่ยินยอม และได้หาคนอื่นมาทำงานแทน เมื่อตนสอบถามว่าจะให้กลับเข้าทำงานได้อีกเมื่อไหร่ ก็ไม่ได้รับคำตอบ ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ จึงตัดสินใจเป็นฝ่ายแจ้งขอลาออกเอง และได้แจ้งความประสงค์ขอรับเงินค่าจ้างทั้งหมดที่ยังค้างอยู่
ทว่า นายจ้างกลับอ้างว่า ตนเป็นฝ่ายผิดสัญญาที่ไม่แจ้งลาออกล่วงหน้า จึงไม่คืนเงินประกันที่หักไว้เดือนละ 500 บาท และจะไม่จ่ายค่าแรงที่ค้างอยู่ทั้งหมด ทำให้ตนรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรมเป็นอย่างยิ่ง ที่ผ่านมาพยายามทักไปทวงถามเรื่องค่าแรงหลายครั้ง แต่นายจ้างก็เพิกเฉยและยืนกรานคำเดิมว่าตนผิดสัญญา
ด้าน นายกฤตผล แก่นนาคำ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้ชี้แจงถึงสิทธิของลูกจ้างตามกฎหมายว่า หากลูกจ้างถูกนายจ้างเอาเปรียบหรือโกงค่าแรง สามารถร้องเรียนได้ทันทีตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งปัจจุบันอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อยู่ที่วันละ 352 บาท หากนายจ้างจ่ายน้อยกว่านี้ ถือว่าผิดกฎหมาย
สำหรับกรณีลูกจ้างที่ถูกให้ออกจากงาน หากนายจ้างสั่งให้ออกโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า ลูกจ้างมีสิทธิ์ได้รับค่าชดเชย หรือที่เรียกว่า ‘ค่าตกใจ’ เป็นเงินเท่ากับค่าจ้าง 1 เดือน แม้จะไม่มีการทำสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร นายจ้างก็ต้องจ่ายในส่วนนี้ ส่วนเงินประกันที่นายจ้างหักจากลูกจ้าง หากลูกจ้างลาออกแล้วไม่ได้ทำให้ทรัพย์สินของร้านเสียหาย ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องคืนเงินค่าประกันทั้งหมด และที่สำคัญที่สุด นายกฤตผล ยืนยันว่า แม้ลูกจ้างจะทำงานเพียงแค่วันเดียว นายจ้างก็มีหน้าที่ต้องจ่ายค่าแรงตามกฎหมาย
ในกรณีของนางสาวชัญณษา ทางสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ได้รับเรื่องร้องทุกข์ไว้แล้ว โดยจากนี้จะดำเนินการเรียกนายจ้างมาให้ปากคำ เพื่อเข้าสู่กระบวนการเจรจาไกล่เกลี่ยตามสิทธิ์ที่ลูกจ้างพึงจะได้รับตามกฎหมาย หากนายจ้างยังคงไม่ยินยอม ทางสำนักงานฯ จะดำเนินการแจ้งความและฟ้องร้องนายจ้างต่อศาลแรงงานต่อไป เพื่อปกป้องสิทธิของลูกจ้าง