สตาร์ลิงก์เปิดตัวในบังกลาเทศ: เน็ตดาวเทียมพร้อมให้บริการ ช่วยสื่อสารยามฉุกเฉิน
บังกลาเทศ เฮ! ได้ใช้เน็ตดาวเทียม สตาร์ลิงก์ ของอีลอน มัสก์ แล้ว หวังยกระดับเสถียรภาพการสื่อสาร และเป็นช่องทางสำรองที่ไม่ถูกปิดกั้นในภาวะวิกฤต
ธากา, บังกลาเทศ – วันที่ 20 พฤษภาคม สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ระบบอินเทอร์เน็ตผ่านเครือข่ายดาวเทียมความเร็วสูง “สตาร์ลิงก์” (Starlink) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ของอภิมหาเศรษฐีชาวอเมริกันอย่างนายอีลอน มัสก์ (Elon Musk) ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการแล้วในประเทศบังกลาเทศ การเปิดตัวครั้งนี้ถูกมองว่า จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในการยกระดับเสถียรภาพประสบการณ์ของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทั่วประเทศ
นายมูฮัมหมัด ยูนูส (Muhammad Yunus) นายกรัฐมนตรีของรัฐบาลรักษาการณ์บังกลาเทศ ผู้ซึ่งเคยได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพประจำปี 2549 ได้กล่าวถึงความสำคัญของสตาร์ลิงก์ว่า จะช่วยให้ระบบการสื่อสารอินเทอร์เน็ตของประเทศมีช่องทางที่แข็งแกร่ง และที่สำคัญคือเป็นช่องทางการสื่อสารที่ไม่สามารถถูกรบกวนหรือปิดกั้นได้โดยง่ายในกรณีที่เกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือวิกฤตการณ์ต่างๆ ขึ้นในอนาคต
สำหรับค่าบริการของสตาร์ลิงก์ในบังกลาเทศนั้น แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลัก คือ ค่าแพ็กเกจรายเดือนอยู่ที่ 4,200 ตากาบังกลาเทศ หรือคิดเป็นเงินไทยในปัจจุบันราว 1,140 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายเบื้องต้นสำหรับอุปกรณ์รับสัญญาณและการติดตั้งอยู่ที่ 47,000 ตากา หรือประมาณ 12,700 บาทไทย
นายฟายิซ อาหมัด ไตเยบ (Fayiz Ahmed Tayeb) ผู้ช่วยพิเศษของนายกรัฐมนตรียูนูส ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า สตาร์ลิงก์จะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีฐานะดี หรือองค์กรที่ต้องการบริการอินเทอร์เน็ตที่มีความเร็วสูงและมีคุณภาพความเสถียรในระดับสูง
การเปิดตัวสตาร์ลิงก์ในบังกลาเทศเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ประเทศเพิ่งผ่านพ้นสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยก่อนหน้านี้ นายยูนูส เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในรัฐบาลรักษาการณ์ หลังจากเกิดการประท้วงครั้งใหญ่ที่นำไปสู่การลี้ภัยของนางชีก ฮาสินา (Sheikh Hasina) อดีตนายกรัฐมนตรี ไปยังประเทศอินเดีย ซึ่งในช่วงเวลาที่มีการประท้วงนั้น มีรายงานว่าระบบอินเทอร์เน็ตหลายส่วนถูกปิดกั้นการเข้าถึงโดยรัฐบาล ถือเป็นบทเรียนที่ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นของการมีช่องทางการสื่อสารทางเลือกที่เชื่อถือได้
ปัจจุบัน สตาร์ลิงก์กำลังเร่งขยายพื้นที่การให้บริการไปทั่วโลกอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลล่าสุดระบุว่า ได้เปิดให้บริการแล้วในกว่า 70 ประเทศทั่วโลก และกำลังมุ่งเน้นการขยายเครือข่ายไปยังประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูง เช่น ประเทศอินเดีย (ทั้งนี้ ระบบสตาร์ลิงก์ยังไม่มีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการในประเทศไทย)