ไนท์ซาฟารีเชียงใหม่แจงสาเหตุ “เลียงผา” บาดเจ็บจากเชียงดาวเสียชีวิต พบกล้ามเนื้อสลาย-ติดเชื้อในกระแสเลือด

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ชี้แจงสาเหตุการเสียชีวิตของ “เลียงผา” เพศผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเชียงดาว อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ หลังรับตัวมารักษาต่อ พบมีภาวะกล้ามเนื้อสลายร่วมกับการติดเชื้อในกระแสเลือดเป็นสาเหตุเบื้องต้น

วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 สำนักงานพัฒนาพิงคนคร (องค์การมหาชน) โดยสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงกรณีการเสียชีวิตของ “เลียงผา” ที่ได้รับบาดเจ็บและถูกส่งมารักษา ณ โรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้รับการประสานจากคลินิกสัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อขอส่งต่อเลียงผาเพศผู้ตัวหนึ่งที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรง มารับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อที่โรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารี

ทันทีที่ได้รับแจ้ง นางสาวฐิติรัตน์ ต๊ะวันวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการรับเลียงผาตัวดังกล่าวจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ พร้อมทั้งสั่งการให้จัดเตรียมสถานที่ดูแลรักษาชั่วคราวอย่างเคร่งครัด โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการนำเชื้อโรคเข้าสู่พื้นที่ของไนท์ซาฟารีอย่างเต็มที่ และให้ทีมสัตวแพทย์เตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาและเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด

นายสัตวแพทย์รักษ์ศิริ น้อมศิริ หัวหน้ากลุ่มงานสัตวแพทย์ อนุรักษ์ และวิจัย ของเชียงใหม่ไนท์ซาฟารี ได้กล่าวว่า หลังจากได้รับมอบหมาย ตนพร้อมทีมงานได้ประสานงานและรีบเดินทางไปยังคลินิกสัตว์ป่าฯ เพื่อประเมินสถานการณ์เบื้องต้น พบว่าเลียงผาอยู่ในสภาพอ่อนแรงอย่างเห็นได้ชัด จึงได้ร่วมกับสัตวแพทย์จากคลินิกสัตว์ป่าฯ ทำการวางยาสลบอย่างระมัดระวังตามหลักวิชาการ เพื่อเคลื่อนย้ายเลียงผามายังโรงพยาบาลสัตว์เชียงใหม่ไนท์ซาฟารีทันที

เมื่อถึงโรงพยาบาลสัตว์ฯ ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยใช้อุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์ พบลักษณะบาดแผลหลายจุดที่มีการติดเชื้อและพบหนอนแมลงวัน โดยเฉพาะที่กล้ามเนื้อต้นขาหลังทั้ง 2 ข้าง และที่บริเวณช่องท้อง ซึ่งบาดแผลลึกถึงชั้นกล้ามเนื้อแต่ไม่ทะลุช่องท้อง นอกจากนี้ยังพบเห็บจำนวนมากตามลำตัว จากการถ่ายภาพรังสีไม่พบวัตถุแปลกปลอมภายในบาดแผล และตรวจสอบแล้วไม่พบไมโครชิพ

เบื้องต้น ทีมสัตวแพทย์ได้ทำการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจสุขภาพ และให้การรักษาด้วยการให้สารน้ำ, ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมการติดเชื้อ, ยาแก้ปวด, ยากำจัดพยาธิภายนอก และวิตามิน เพื่อประคับประคองอาการ

อย่างไรก็ตาม อาการของเลียงผายังคงทรงตัว และทีมสัตวแพทย์ต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะความเสี่ยงจากการติดเชื้อที่บาดแผล และภาวะไตวายที่อาจเกิดขึ้นจากการฉีกขาดของกล้ามเนื้อ

ในช่วงค่ำของวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 แม้เลียงผาจะมีความพยายามที่จะลุกเดินเพื่อไปกินน้ำ แต่หลังจากนั้นอาการก็ค่อยๆ อ่อนแรงลงอย่างช้าๆ จนกระทั่งเสียชีวิตในช่วงเช้าของวันที่ 16 พฤษภาคม 2568 ระหว่างเวลาประมาณ 05:00 – 06:00 น.

หลังการเสียชีวิต สำนักงานเชียงใหม่ไนท์ซาฟารีได้เร่งส่งซากเลียงผาไปชันสูตรยังห้องปฏิบัติการของคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งจากการผ่าชันสูตรเบื้องต้นพบการอักเสบอย่างรุนแรงของบาดแผล มีการติดเชื้อในกล้ามเนื้อต้นขาและกล้ามเนื้อบางส่วนตาย นอกจากนี้ยังพบการอักเสบที่ปอดและไต และมีภาวะมีลมในชั้นใต้ผิวหนัง (subcutaneous emphysema) รอบบริเวณลำตัวช่วงบน แต่ไม่พบการฉีกขาดของช่องอกหรือการหักของกระดูกซี่โครง

ผลการชันสูตรเบื้องต้นสันนิษฐานว่า สาเหตุการเสียชีวิตเกิดจากภาวะกล้ามเนื้อสลาย (capture myopathy) ซึ่งมักเกิดขึ้นกับสัตว์ป่าที่ถูกจับหรือเครียดอย่างรุนแรง ร่วมกับการติดเชื้อในกระแสเลือด (sepsis) ที่รุนแรง

ทั้งนี้ เพื่อยืนยันผลการชันสูตรอย่างละเอียดและหาข้อสรุปที่ชัดเจน ทีมสัตวแพทย์ได้มีการเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อและอวัยวะภายในส่งตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการเฉพาะทางต่อไป

เชียงใหม่ไนท์ซาฟารียืนยันว่า ได้ดำเนินการดูแลรักษาเลียงผาตัวดังกล่าวอย่างเต็มที่ตามหลักวิชาการและมาตรฐานการรักษาสัตว์ป่าอย่างดีที่สุดแล้ว

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *