กรมชลฯ เข้ม! สั่งเฝ้าระวังน้ำทั่วประเทศ หลังสัญญาณฝนเพิ่ม ย้ำ 9 มาตรการรับมือฤดูฝน

กรุงเทพฯ – ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายเดช เล็กวิชัย รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เพื่อประเมินสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำและแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ พร้อมสั่งการให้สำนักงานชลประทานในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด หลังเริ่มมีสัญญาณปริมาณฝนตกเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่ ซึ่งเป็นสัญญาณของการเข้าสู่ฤดูฝนที่กำลังจะมาถึง

นายเดช เล็กวิชัย เปิดเผยว่า จากการรายงานสถานการณ์น้ำล่าสุด ณ วันที่ 19 พฤษภาคม 2568 พบว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปริมาณฝนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางเพิ่มขึ้นในหลายแห่ง

ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 19 พ.ค. 68) มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศรวมกันทั้งสิ้น 42,403 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) คิดเป็น 56% ของความจุอ่างฯ โดยยังคงสามารถรับน้ำได้อีกกว่า 33,944 ล้าน ลบ.ม. สำหรับอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่งหลักในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำรวมกัน 12,832 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 52% ของความจุอ่างฯ และยังสามารถรับน้ำได้อีก 12,039 ล้าน ลบ.ม.

แม้สถานการณ์น้ำทั่วประเทศโดยรวมยังอยู่ในระดับปกติถึงระดับที่ต้องเฝ้าระวัง แต่เนื่องจากมีแนวโน้มที่ปริมาณฝนจะเพิ่มมากขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ กรมชลประทานจึงได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานในทุกพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดน้ำหลากหรือน้ำท่วม ให้ดำเนินการเฝ้าระวังระดับน้ำในแหล่งน้ำและทางน้ำต่าง ๆ อย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง

นอกจากนี้ ยังได้เน้นย้ำให้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำเป็นไปอย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ โดยให้พิจารณาการระบายน้ำล่วงหน้าในกรณีที่คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากผิดปกติ และให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2568 ตามมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชน และพื้นที่เกษตรกรรม

นายเดช เล็กวิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ตนได้กำชับให้ทุกสำนักงานชลประทานประสานงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ทั้งฝ่ายปกครอง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกัน และที่สำคัญคือการสื่อสารข้อมูลสถานการณ์น้ำ แผนการบริหารจัดการน้ำ และการแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ให้รับทราบอย่างรวดเร็วและทั่วถึง เพื่อให้ประชาชนสามารถเตรียมความพร้อมและรับมือกับสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และ นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ทั้งนี้ กรมชลประทานจะยังคงติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *