สภาพัฒน์ หั่นคาดการณ์ GDP ปี 2568 เหลือ 1.8% ชี้หนี้ครัวเรือนสูง-เศรษฐกิจโลกชะลอตัวเป็นปัจจัยฉุด
กรุงเทพฯ – สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ประจำปี 2568 ลงเหลือ 1.8% (ค่ากลางของการประมาณการที่ 1.3 – 2.3%) จากปัจจัยกดดันหลักที่มาจากภาระหนี้สินของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ยังคงอยู่ในระดับสูง รวมถึงแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ เปิดเผยภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่ 1 ของปี 2568 ว่า GDP ขยายตัว 3.1% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 3.3% ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2567 และเมื่อปรับผลของฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2568 ขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า 0.7%
สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจไทยทั้งปี 2568 สภาพัฒน์คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 1.8% ซึ่งเป็นค่ากลางของการประมาณการในช่วง 1.3 – 2.3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนภาครัฐ สอดคล้องกับกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 ที่สูงขึ้น รวมถึงการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของการบริโภคภาคเอกชน ท่ามกลางอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง
อย่างไรก็ตาม การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยทั้งปียังคงมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง และมีแนวโน้มชะลอตัวลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2568 ตามแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงจากผลกระทบของการดำเนินมาตรการทางการค้าของสหรัฐฯ รวมถึงความผันผวนในภาคเกษตร
สภาพัฒน์ได้ให้ประมาณการองค์ประกอบหลักของเศรษฐกิจไทยในปี 2568 ดังนี้ การอุปโภคบริโภคคาดว่าจะขยายตัว 2.4% การลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.7% มูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 1.8% อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.0 – 1.0% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 2.5% ของ GDP
นายดนุชา ยังได้ให้แนวทางบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงที่เหลือของปี 2568 โดยให้ความสำคัญกับการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเฉพาะงบรายจ่ายลงทุนปี 2568 และงบกันไว้เบิกเหลื่อมปี ไม่ต่ำกว่า 70% และ 90% ตามลำดับ พร้อมทั้งเน้นย้ำการรับมือมาตรการกีดกันทางการค้า การปกป้องภาคการผลิตในประเทศจากการทุ่มตลาดและการค้าที่ไม่เป็นธรรม การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในการสร้างรายได้และปรับโครงสร้างหนี้ การดูแลภาคเกษตรให้พร้อมรับมือความเสี่ยง และการสร้างความเชื่อมั่นและความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานสำหรับภาคการท่องเที่ยว
เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าวทิ้งท้ายถึงสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากการเจรจาการค้าหลังสหรัฐฯ ขึ้นภาษี การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ความไม่แน่นอนในประเทศเกิดใหม่ รวมถึงความเสี่ยงภายในประเทศจากหนี้ครัวเรือน คุณภาพสินเชื่อ และปัญหา NPL ที่ต้องเฝ้าระวังและแก้ไขปัญหา ขณะที่ภาคเกษตรยังคงเผชิญความไม่แน่นอนจากสภาพอากาศที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ จึงแนะนำให้ภาคธุรกิจและประชาชนต้องมีการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์และบริหารค่าใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง