กมธ.วุฒิฯ ฟันธง E-Commerce ไทยวิกฤต! ฟังเสียงผู้ค้า ชงรัฐสร้างแพลตฟอร์มสู้ทุนต่างชาติ-คุมสินค้านำเข้าจีน
กรุงเทพฯ – คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นผู้ประกอบการค้าออนไลน์ไทย ชี้สถานการณ์ E-Commerce ไทยน่าเป็นห่วง เหตุพึ่งพาแพลตฟอร์มต่างชาติสูง เผชิญการแข่งขันไม่เป็นธรรม และสินค้านำเข้าโดยเฉพาะจากจีนทะลักเข้าตลาด เสนอแนะภาครัฐเร่งสร้างแพลตฟอร์มกลางของไทย สนับสนุนผู้ประกอบการ และออกกฎหมายควบคุมที่เข้มงวด
เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2568 ที่รัฐสภา นายเอกชัย เรืองรัตน์ สว. ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพาณิชย์และการอุตสาหกรรม วุฒิสภา เปิดเผยถึงผลการจัดสัมมนา “e-Commerce กลืนชาติ : ฟังเสียงคนค้าออนไลน์ไทยก่อนจะสาย” โดยมีผู้ประกอบการแพลตฟอร์มออนไลน์ ผู้ประกอบการขนส่ง และผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะปัญหาอุปสรรคในการค้าออนไลน์ เพื่อให้ กมธ. นำเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหา
นายเอกชัย กล่าวว่า ตลาด E-Commerce ไทยมีมูลค่ามหาศาล โดยมูลค่าตลาด E-Marketplace ปี 2024 อยู่ที่ประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนแบ่งตลาดหลักตกเป็นของแพลตฟอร์มต่างชาติ ได้แก่ Shopee (40.9%), Lazada (34.9%) และ TikTok (24.1%) โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากค่าบริการที่ผู้ขายต้องจ่าย
ปัญหาที่ผู้ประกอบการไทยเผชิญบน Market Place
- การแข่งขันสูง: ต้องแข่งขันกับผู้ขายทั่วประเทศและต่างประเทศ
- ค่าธรรมเนียม: มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นเรื่อยๆ
- การโฆษณา: ต้องซื้อโฆษณาเพื่อดันยอดขาย
- ขาดการควบคุม: ไม่ได้เป็นเจ้าของแพลตฟอร์ม ไม่สามารถควบคุมข้อมูลลูกค้าได้ และเสี่ยงต่อการถูกปิดร้าน
จากปัญหาดังกล่าว ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นต้องมีช่องทางการขายของตัวเอง (Owned Channel) เพื่อลดการพึ่งพาแพลตฟอร์มภายนอก
ข้อเสนอแนะจากผู้ประกอบการถึงภาครัฐ
ผู้ประกอบการได้เสนอแนะปัญหาและแนวทางแก้ไขต่อ กมธ. ดังนี้
- ปัญหาแพลตฟอร์มและการขนส่ง: แพลตฟอร์มบังคับใช้ขนส่งที่กำหนด ทำให้ไม่สะดวกและแก้ไขปัญหายาก, แพลตฟอร์มดองเงินผู้ขาย (7-14 วัน), บังคับส่งของรวดเร็วเกินไป, และมีการเปลี่ยนขนส่งโดยไม่แจ้งล่วงหน้า
- ปัญหาค่าธรรมเนียมและการแข่งขัน: ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์มสูงแต่บริการแย่ลง, ต้องการให้ลดค่าธรรมเนียมและควบคุมการเก็บเงินที่ไม่เป็นธรรม, เรียกร้องให้รัฐเก็บภาษีสินค้านำเข้ารายย่อยจากจีนอย่างเข้มงวด, และต้องการลดการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมจากสินค้าทุ่มตลาดและสินค้าปลอม
- ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับสินค้านำเข้าและสินค้าปลอม: สินค้าปลอมและสินค้านำเข้าที่ไม่ถูกต้องยังแพร่หลาย โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่มีการปลอมแบรนด์ไทย ขายตัดราคาอย่างหนัก กระทบธุรกิจไทยอย่างรุนแรง ต้องการให้แพลตฟอร์มและรัฐตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้าและสินค้าผิดกฎหมาย
ข้อเสนอเชิงเทคนิคและเชิงระบบ
ผู้ประกอบการเสนอให้รัฐพัฒนาระบบกลาง เช่น ระบบตรวจสอบเลข อย. หรือข้อมูลสินค้าก่อนโพสต์ขาย, บังคับให้ Marketplace ที่มีรายได้สูงเปิด API ให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลได้, ส่งเสริมการใช้แชทบอทแก้ปัญหา, และเปิดให้ระบบเชื่อมต่อการชำระเงิน การจัดส่ง การจัดการคำสั่งซื้ออย่างเสรี
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้รัฐเปิดข้อมูลเพื่อลิงก์เช็กข้อมูลสินค้า เชื่อมโยงกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (อย., กรมทรัพย์สินทางปัญญา, กรมศุลกากร), กำหนดสัดส่วนสินค้าไทยบนแพลตฟอร์มในประเทศ, และสร้างระบบแจ้งเตือน/รายงานสินค้าผิดกฎหมาย
ข้อเสนอให้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐดำเนินการ
นายเอกชัย กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อเสนอที่สำคัญ คือ รัฐบาลควรตั้งแพลตฟอร์มกลางของไทยและสนับสนุนให้แข่งขันได้, บังคับ Marketplace เปิดเผยข้อมูลผู้ขายและลูกค้า, มีมาตรการควบคุมสินค้านำเข้าเลี่ยงภาษีและตั้งกำแพงภาษีที่เหมาะสม, สนับสนุนระบบกลางสำหรับใบเสร็จ/ใบกำกับภาษี, และมีระบบแจ้งเตือน/ช่องทางร้องเรียนที่เข้าถึงง่าย
ผู้ประกอบการยังเรียกร้องให้รัฐส่งเสริม SME ไทยอย่างเป็นรูปธรรม เช่น ลดภาษีหรือสนับสนุนทุน และต้องการกฎหมายและการบังคับใช้ที่เท่าเทียมและเข้มงวด โดยชี้ว่าหลายประเทศพยายามลดการนำเข้าสินค้าจีนราคาถูกที่ทุ่มตลาด แต่ไทยยังคงปล่อยให้เกิดขึ้น
ข้อเสนอที่เห็นว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งคือ การจัดทำกฎหมายควบคุมแพลตฟอร์มดิจิทัลและ E-Commerce อย่างครอบคลุม รวมถึงการสร้างกลไกตรวจสอบและป้องกันสินค้าปลอมที่เข้ามาผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ทำให้ผู้ประกอบการไทยและ SME ได้รับผลกระทบอย่างหนัก แข่งขันไม่ได้ และขาดทุน
อย่างไรก็ตาม แม้การสร้างช่องทางขายของตัวเอง (Own-Channel) จะเป็นทางออก แต่ยังไม่เพียงพอหากขาดการสนับสนุนที่จริงจังจากภาครัฐ.