วธ. โดย สศร. คัดเลือก 3 ทีม ‘เด็ก อวด + ดี’ ใช้ศิลปะร่วมสมัยพัฒนาสังคม มอบทุน 3 แสนบาท

กระทรวงวัฒนธรรม โดย สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ประกาศผลคัดเลือก 3 ทีมเยาวชนจากโครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินร่วมสมัย “เด็ก อวด + ดี” ซึ่งจะได้รับทุนรวม 300,000 บาท เพื่อนำองค์ความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัยไปต่อยอดสร้างสรรค์และพัฒนาชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย ตอกย้ำพลังสร้างสรรค์ของคนรุ่นใหม่ในการขับเคลื่อนสังคมและวัฒนธรรม

นางโชติกา อัครกิจโสภากุล รองปลัดกระทรวงวัฒนธรรม รักษาราชการแทน ผอ.สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) เปิดเผยว่า โครงการพัฒนาศักยภาพศิลปินร่วมสมัย (เด็ก อวด + ดี) จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพเด็กและเยาวชนที่มีความสามารถโดดเด่นด้านศิลปะร่วมสมัยและมีจิตอาสา ให้เป็นต้นแบบที่ดีในการส่งต่อคุณธรรมและคุณลักษณะจิตอาสาสู่สังคม ภายใต้แนวคิด “Good To Great : เปลี่ยนคนคิดได้ ให้เป็นคนคิดดี”

ที่ผ่านมาได้มีการจัดกิจกรรมเข้าค่าย OCAC MEE DEE Camp เพื่ออบรมเชิงปฏิบัติการ เสริมสร้างความรู้และพัฒนาทักษะด้านศิลปะร่วมสมัย โดยได้รับความรู้จากผู้บริหาร สศร. และคณะกรรมการโครงการผู้ทรงคุณวุฒิ หลังจากนั้นได้เข้าสู่กระบวนการพิจารณาคัดเลือกจาก 10 ทีมที่เข้าร่วมโครงการ ให้เหลือเพียง 3 ทีมในรอบสุดท้าย ซึ่งทั้ง 3 ทีมนี้จะได้รับเงินรางวัลเพื่อเป็นทุนดำเนินโครงการในพื้นที่จริง ดังนี้

  • ทีมที่ 1: คนไทยไปดวงจันทร์ จากมหาวิทยาลัยศิลปากร นำเสนอโครงการ “รอยศิลป์รากถิ่น” ที่จะนำแนวคิดงานจิตรกรรมฝาผนัง หรือ “ฮูปแต้ม” ซึ่งเป็นศิลปะพื้นถิ่นอีสาน มาสร้างสรรค์เป็นงานศิลปะร่วมสมัยร่วมกับคนในชุมชน โดยจะดำเนินโครงการในพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์
  • ทีมที่ 2: Art for Change ศิลป์เปลี่ยนโลก จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอโครงการ “Art Heal Heart” ซึ่งจะใช้องค์ความรู้และกระบวนการด้านศิลปะร่วมสมัยเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมและแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยเน้นช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในชุมชน นำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
  • ทีมที่ 3: ArtedToy จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอโครงการ “การเรียนรู้ผ่านการออกแบบคาแร็กเตอร์/การปั้น” โดยได้รับแรงบันดาลใจจากผีพื้นบ้าน 3 ตนของจังหวัดเลย ได้แก่ ผีตาโขน ผีบุ้งเต้า และผีขนน้ำ มาเป็นต้นแบบในการเรียนรู้และสร้างสรรค์งานศิลปะของเยาวชนในพื้นที่จังหวัดเลย

นางโชติกากล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้ง 3 ทีมจะได้รับเงินรางวัลรวมทั้งหมดจำนวน 300,000 บาท เพื่อใช้เป็นทุนตั้งต้นในการลงพื้นที่ดำเนินงานโครงการจริงร่วมกับชุมชนในพื้นที่เป้าหมาย การที่เยาวชนได้ลงมือปฏิบัติงานจริงในชุมชนนี้ ถือเป็นการขับเคลื่อนงานด้านวัฒนธรรมที่สำคัญ ช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสังคม สร้างประโยชน์ที่จับต้องได้ให้กับคนในชุมชน และสนับสนุนเศรษฐกิจวัฒนธรรมให้เติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ โครงการยังเป็นการเสริมพลังสร้างสรรค์ให้คนรุ่นใหม่ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนวัฒนธรรมและสังคม รวมถึงเสริมสร้างและพัฒนาทักษะเฉพาะทางด้านศิลปวัฒนธรรม พร้อมทั้งสร้างความเข้าใจและเห็นคุณค่าในวัฒนธรรมที่หลากหลาย ซึ่งจะช่วยให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นคนดี คนเก่ง และเป็นกำลังสำคัญที่มีคุณภาพของประเทศต่อไป.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *