นายกฯ ‘แพทองธาร’ ควง ‘สุชาติ’ ลุยจันทบุรี รับฟังปัญหาชาวสวนผลไม้ พร้อมเร่งแผนดันตลาดใน-นอก แก้ปัญหาราคาตก
จันทบุรี, 17 พฤษภาคม 2568 – ณ บริษัท ดรากอนเฟรชฟรุท จำกัด อำเภอมะขาม จังหวัดจันทบุรี นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ได้ลงพื้นที่เพื่อพบปะและรับฟังปัญหาจากพี่น้องเกษตรกรชาวสวนผลไม้ และผู้ประกอบการรับซื้อผลไม้ในพื้นที่ภาคตะวันออก
การลงพื้นที่ครั้งนี้มีรัฐมนตรีและผู้บริหารระดับสูงเข้าร่วมอย่างคับคั่ง อาทิ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์, นางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอิทธิ ศิริลัทธยากร, นายอัครา พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมถึงผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าส่วนราชการในจังหวัด
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยสถานการณ์ผลไม้ของชาวสวนจันทบุรีเป็นอย่างยิ่ง จึงได้เดินทางมาติดตามสถานการณ์ด้วยตนเอง พร้อมนำมาตรการช่วยเหลือผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างเต็มกำลัง ทั้งในส่วนของการบริโภคภายในประเทศและการส่งออก เพื่อให้เกษตรกรสามารถขายผลไม้ได้ในราคาที่เป็นธรรม และมีรายได้ที่มั่นคง
กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมการค้าภายใน ได้ผนึกกำลังกับภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งระบายผลผลิต โดยเฉพาะในช่วงผลผลิตออกสู่ตลาดปริมาณมาก โดยมี ภาคเอกชน 27 ราย จาก 9 กลุ่มธุรกิจ เข้ามาร่วมรับซื้อผลผลิตรวมกว่า 103,760 ตัน บริษัทชั้นนำที่ร่วมมือ ได้แก่ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด, ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด, ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างเซ็นทรัล, บิ๊กซี, โลตัส นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานภาครัฐที่ให้การสนับสนุน เช่น ไปรษณีย์ไทย, ตู้เต่าบิน และกรมราชทัณฑ์ ที่ช่วยจัดซื้อผลไม้เพื่อกิจกรรม CSR และใช้ภายในหน่วยงาน
ในด้านนวัตกรรมการตลาด กระทรวงพาณิชย์ได้ร่วมมือกับบริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด (เต่าบิน) ลงนาม MOU รับซื้อผลไม้จากเกษตรกร 1,000 ตัน เพื่อนำมาแปรรูปเป็นเครื่องดื่มผลไม้ปั่นสด พร้อมจำหน่ายผ่าน “ตู้เต่าปั่น” โดยจะเริ่มในกรุงเทพฯ เดือนมิถุนายนนี้ และมีแผนขยายให้ครบ 7,500 ตู้ทั่วประเทศภายในเดือนกรกฎาคม ซึ่งเป็นการเพิ่มช่องทางใหม่ในการเข้าถึงผู้บริโภค
ความร่วมมือที่สำคัญอีกประการคือ การร่วมกับบริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด รับซื้อผลไม้ เช่น ลำไย, มังคุด, สับปะรดภูแล จำนวน 1,000 ตัน เพื่อนำไปแปรรูปจำหน่ายบนเที่ยวบิน ในรูปแบบ Snack Box และที่ร้านค้าในสนามบิน โดยโครงการนี้จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2568 ถึงเดือนสิงหาคม 2569 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างตลาดใหม่ให้กับผลไม้ไทยในกลุ่มผู้เดินทาง
สำหรับการส่งออก รัฐบาลตั้งเป้าผลักดันผลไม้ไทยออกสู่ตลาดต่างประเทศให้ได้ 4.13 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 308,000 ล้านบาท โดยมุ่งเน้นตลาดศักยภาพ เช่น จีน, ฮ่องกง, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, กลุ่มประเทศ CLMV และตะวันออกกลาง ผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การตรวจรับรอง GAP, การจัดตั้งศูนย์ “Set Zero”, War Room เพื่อเร่งรัดการส่งออก, รวมถึงการจัดกิจกรรมเจรจาการค้าในต่างประเทศ
นายสุชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า นายกรัฐมนตรีได้รับฟังข้อเสนอแนะจากเกษตรกรและผู้ประกอบการโดยตรง และได้สั่งการให้เร่งแก้ปัญหาเชิงระบบ เช่น การจัดตั้ง One Stop Service สำหรับเอกสารส่งออกเพื่อลดขั้นตอนที่ล่าช้า การควบคุมคุณภาพผลผลิต และการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการจำหน่ายทุเรียนอ่อนอย่างเข้มงวด รวมถึงการส่งเสริมการบริโภคในประเทศ และการใช้ Soft Power โดยเฉพาะอินฟลูเอนเซอร์ระดับโลก เพื่อช่วยโปรโมทผลไม้ไทยในตลาดสากล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสื่อสารการตลาดของกระทรวงพาณิชย์
กระทรวงพาณิชย์ยืนยันจะดำเนินการอย่างเร่งด่วนในทุกมิติ ทั้งการดูแลคุณภาพผลผลิต, การสร้างราคาที่เป็นธรรม, และการผลักดันการส่งออกให้บรรลุตามแผนบริหารจัดการผลไม้ปี 2568 ซึ่งมีเป้าหมายรวม 950,000 ตัน ครอบคลุมการตลาดภายในประเทศ, การส่งออก, การแปรรูป และการยกระดับคุณภาพผลไม้ไทย เพื่อให้เกษตรกรมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนตลอดไป