ปริญญา ห่วง! ครบรอบ 33 ปี ‘พฤษภา 35’ ชี้ถึงปี 68 ยังไม่มีใครกล้ารับประกัน รัฐประหาร-นองเลือด จะไม่เกิดอีก เตือนทุกฝ่าย ‘อย่าสร้างเงื่อนไข’ ให้กองทัพเข้ามายุ่ง
กรุงเทพฯ – นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม เปิดเผยถึงความกังวลต่อสถานการณ์การเมืองไทย เนื่องในโอกาสครบรอบ 33 ปี เหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ณ สวนสันติพร อนุสรณ์สถานพฤษภาประชาธรรม ถนนราชดำเนิน โดยระบุว่า แม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 33 ปี และเกิดเหตุการณ์รัฐประหารและการนองเลือดขึ้นอีกหลายครั้งหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 แต่ดูเหมือนว่าประเทศไทยยังคงเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตน้อยมาก
นายปริญญา กล่าวว่า จุดประสงค์ของการสร้างสวนสันติพรแห่งนี้ คือเพื่อให้เป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ประชาธิปไตย เพื่อป้องกันไม่ให้ความผิดพลาดในอดีตเกิดขึ้นซ้ำอีก โดยเฉพาะเหตุการณ์รัฐประหารและการนองเลือด ซึ่งไม่ควรจะเกิดขึ้นแล้ว แต่ก็ยังคงเกิดขึ้นอีกหลายครั้งหลังปี 2535
ประธานมูลนิธิพฤษภาประชาธรรม ตั้งคำถามว่า ในปี 2568 ที่กำลังจะมาถึง ใครกล้าที่จะพูดได้อย่างเต็มปากว่า การรัฐประหาร ล้มล้างรัฐธรรมนูญ หรือการนองเลือด จะไม่เกิดขึ้นอีกในประเทศไทย หากมองในแง่นี้ อาจกล่าวได้ว่าสถานการณ์ดูเหมือนจะแย่ลง เพราะยังไม่มีความมั่นใจว่าจะไม่เกิดความผิดซ้ำอีก
นายปริญญา เรียกร้องไปยังผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย ทั้งผู้นำเหล่าทัพ พรรคการเมืองทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน รวมถึงประชาชนที่รักประชาธิปไตย ให้ช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยไม่ล้มเหลว และไม่สร้างเงื่อนไขที่อาจนำไปสู่การแทรกแซงอำนาจของกองทัพได้อีก
“ท่านผู้นำเหล่าทัพ สามารถที่จะรับปากกับประชาชน และวีรชนทุกเหตุการณ์ว่าจากนี้ไปกองทัพจะไม่มาแทรกแซง หรือจะไม่ล้มล้างรัฐธรรมนูญอีก รวมถึงพรรคการเมืองทุกพรรคทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน รับปากได้หรือไม่ว่า จะช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยไม่ล้มเหลว แล้วกลายเป็นเงื่อนไข กองทัพยึดอำนาจอีก และประชาชนที่รักประชาธิปไตย จะช่วยกันได้หรือไม่ว่าจากนี้จะไม่ไปล้อมหน่วยเลือกตั้ง หรือไปเรียกให้กองทัพมาปฏิบัติอีก ช่วยกันทำให้ประชาธิปไตยไม่ล้มเหลว ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องของทุกฝ่าย” นายปริญญา กล่าว
นายปริญญา ย้ำว่า ประชาธิปไตยสามารถมีความเห็นต่างกันได้ แต่การขัดแย้งนั้นควรอยู่ภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่การพยายามล้มล้างรัฐธรรมนูญ เปรียบเหมือนกับการแข่งขันกีฬาที่มีกติกาที่ชัดเจน พรรคการเมืองที่ต่างกันก็เหมือนทีมกีฬาที่แข่งกันตามกติกา ใครชนะเป็นรัฐบาล ใครแพ้เป็นฝ่ายค้าน ซึ่งกลไกนี้ควรจะประสบความสำเร็จได้แล้วหลังเหตุการณ์พฤษภา 35 และไม่ควรจะล้มเหลวอีก
เมื่อถูกถามถึงสถานการณ์การเมืองปัจจุบันที่อาจนำไปสู่การยั่วยุให้เกิดเหตุการณ์ในอดีต นายปริญญา มองว่า การรัฐประหารสองครั้งที่ผ่านมาไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับกองทัพที่จะออกมาได้เอง แต่เป็นเพราะมีการสร้างเงื่อนไขที่ทำให้เกิดการแทรกแซงขึ้น ทางออกที่มีอยู่กลับถูกทำให้ตัน ทั้งที่ความจริงแล้วมีเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาทุกอย่างตามวิถีทางประชาธิปไตย ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะชอบธรรมให้เกิดการรัฐประหารอีก และจะไม่เกิดขึ้นแน่นอนหากไม่มีใครไปทำให้เกิด
สำหรับความขัดแย้งระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ เช่น สีแดงและสีน้ำเงิน นายปริญญา ชี้ว่า ไม่ว่าจะเป็นสีใดก็ตาม ทุกคนก็เหมือนผู้เล่นในเกมกีฬาที่ต้องเคารพกติกา ความขัดแย้งทางการเมืองควรได้รับการแก้ไขผ่านกลไกและกติกาของประชาธิปไตย ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว การเลือกตั้งคือเจตจำนงของประชาชนในการตัดสินว่าใครควรเป็นรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน
นายปริญญา เชื่อมั่นว่า หากทุกฝ่ายยึดมั่นในกติกาประชาธิปไตย การนองเลือดหรือรัฐประหารก็จะไม่เกิดขึ้นอีก แต่จะสามารถตกลงกันได้ภายใต้กติกา และให้การเลือกตั้งเป็นเครื่องมือในการแสดงเจตจำนงของประชาชน