สสส. ร่วม สอสท. ระดมสมอง แก้วิกฤตไมโครพลาสติกคุกคามสุขภาพประชาชน

นนทบุรี, 16 พฤษภาคม 2068 – สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย (สอสท.) เดินหน้าแก้ไขปัญหามลพิษที่มองไม่เห็น แต่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ จัดงานประชุมระดมความคิดเห็นและสนทนากลุ่มหัวข้อ “การวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการไมโครพลาสติกที่กระทบต่อสุขภาพในประเทศไทย” ณ โรงแรมแกรนด์ ริชมอนด์ นนทบุรี โดยมีตัวแทนจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมเข้าร่วมอย่างคับคั่ง เพื่อร่วมกันวางแผนและกำหนดทิศทางการแก้ไขปัญหามลพิษจากไมโครพลาสติกอย่างเป็นระบบและยั่งยืน

การประชุมครั้งนี้ถือเป็นส่วนสำคัญของโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เพื่อศึกษาการสะสมของไมโครพลาสติกในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายมนุษย์ โดยเน้นพื้นที่ศึกษาเฉพาะคือ ลุ่มน้ำบางปะกง ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อภาคการประมง การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และอุตสาหกรรมอาหารทะเล ปัญหาไมโครพลาสติกซึ่งเป็นอนุภาคพลาสติกขนาดเล็กจากการสลายตัวของขยะพลาสติกในสิ่งแวดล้อม ได้แทรกซึมเข้าสู่ระบบนิเวศและร่างกายมนุษย์ผ่านทางอาหาร น้ำดื่ม และอากาศ งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศเริ่มส่งสัญญาณเตือนว่า อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถสะสมในอวัยวะภายใน และอาจมีความเชื่อมโยงกับปัญหาสุขภาพในระยะยาว แม้ผลสรุปจะยังไม่ชัดเจน แต่ความเสี่ยงที่พบก็ไม่อาจมองข้ามได้

นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวเปิดเผยถึงความกังวลต่อมลพิษสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะไมโครพลาสติก ซึ่งได้กลายเป็นภัยเงียบที่ซ่อนอยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของผู้คนทุกคน ว่า “เราได้รับไมโครพลาสติกจากอาหารที่บริโภค อากาศที่หายใจ และน้ำที่ดื่ม แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่มันสามารถสะสมในร่างกาย และมีงานวิจัยพบว่า อนุภาคขนาดเล็กเหล่านี้สามารถเข้าสู่อวัยวะสำคัญ เช่น ลำไส้ ตับ ปอด และแม้แต่ในเลือด ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลกระทบในระยะยาวต่อสุขภาพทั้งทางกายและจิตใจได้”

นพ.ไพโรจน์ ยังเน้นย้ำถึงเป้าหมายของโครงการวิจัยนี้ว่า มุ่งศึกษาผลกระทบของไมโครพลาสติกอย่างรอบด้าน ทั้งในสิ่งแวดล้อมและในร่างกายมนุษย์ โดยเลือกพื้นที่ปากแม่น้ำบางปะกงเป็นพื้นที่นำร่อง เนื่องจากเป็นแหล่งอาหาร แหล่งน้ำ และเป็นศูนย์รวมวิถีชีวิตชุมชนที่สำคัญ “หากผลการศึกษาตรวจพบไมโครพลาสติกในระดับที่ส่งผลกระทบ เราจำเป็นต้องเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ปรับปรุงมาตรการจัดการขยะพลาสติกและมลพิษที่ต้นทาง และออกแบบนโยบายสาธารณะที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่และประเทศโดยเร็วที่สุด” นพ.ไพโรจน์ กล่าวเสริม

ด้าน นายรัฐชา ชัยชนะ หัวหน้าโครงการและนายกสมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้มีเป้าหมายหลักเพื่อระดมความคิดเห็น วิเคราะห์ปัญหาขยะพลาสติกและไมโครพลาสติกในประเทศไทยอย่างเจาะลึก ทั้งในมิติวิทยาศาสตร์และมิติการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการศึกษาช่องว่างองค์ความรู้และแนวทางจัดการที่เหมาะสมกับบริบทของไทย เน้นพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกงซึ่งเป็นพื้นที่นำร่องที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความมั่นคงทางอาหารของประเทศ

นายรัฐชา กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ ทีมนักวิจัยจากสมาคมสถาบันอุดมศึกษาสิ่งแวดล้อมไทย (สอสท.) จะทำการศึกษาและเก็บข้อมูลการสะสมของไมโครพลาสติกจากสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลุ่มน้ำบางปะกง รวมถึงในประชาชนกลุ่มตัวอย่าง พร้อมทั้งจะรวบรวมข้อมูลและผลการศึกษาเพื่อจัดทำนโยบายเชิงเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาไมโครพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม ความร่วมมือระหว่าง สสส. สอสท. และภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ สะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการปกป้องสุขภาพของประชาชนและรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาว.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *