กรมชลประทาน ยืนยันความพร้อมรับมือฤดูฝน 2568 เดินหน้าบริหารจัดการน้ำทั่วประเทศเต็มศักยภาพ

กรุงเทพฯ – ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยถึงความพร้อมในการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 2568 หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศว่าประเทศไทยเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ที่ผ่านมา โดยกรมชลประทานได้เตรียมแผนงานและระบบชลประทานทั่วประเทศให้พร้อมใช้งานอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการลดและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้ได้มากที่สุด ตามนโยบายสำคัญของรัฐบาลและ ศ.ดร.นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ข้อมูล ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 มีปริมาณน้ำใช้การรวมกันอยู่ที่ 42,561 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 56 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ซึ่งยังสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 33,700 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งมี 4 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ขณะนี้มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,960 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือคิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังมีความสามารถรองรับน้ำได้อีกกว่า 11,900 ล้านลูกบาศก์เมตร

ในส่วนของการเพาะปลูกพืชฤดูฝน กรมชลประทานได้ให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปีและพืชอื่นๆ ตามความเหมาะสม โดยเน้นการใช้น้ำฝนเป็นหลัก และจะมีการใช้น้ำชลประทานเสริมเฉพาะกรณีที่เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง คาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูฝนทั่วประเทศรวมกว่า 18 ล้านไร่ แบ่งเป็น ข้าวนาปีประมาณ 17 ล้านไร่ และพืชไร่-พืชผักประมาณ 1 ล้านไร่

ตามการคาดการณ์ปริมาณฝนของกรมอุตุนิยมวิทยาในปี 2568 มีแนวโน้มสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5 โดยในช่วงต้นฤดูฝนไปจนถึงเดือนกรกฎาคม ประเทศไทยตอนบนจะมีฝนตกชุกกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 5–10 อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนถึงต้นเดือนกรกฎาคม อาจมีภาวะฝนทิ้งช่วงเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ซึ่งเป็นพื้นที่นอกเขตชลประทานและมีความเสี่ยงภัยแล้งสูง จึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ดังกล่าววางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนอย่างรอบคอบ เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิตทางการเกษตร ส่วนในช่วงครึ่งหลังของฤดูฝน ตั้งแต่ประมาณเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม ปริมาณฝนส่วนใหญ่คาดว่าจะใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยปกติ ยกเว้นภาคใต้ฝั่งตะวันออกที่คาดว่าจะมีฝนน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณร้อยละ 10

สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษในช่วงเดือนสิงหาคมถึงตุลาคม คือช่วงที่อาจเกิดฝนตกหนักต่อเนื่อง และมีความเสี่ยงจากพายุหมุนเขตร้อน ซึ่งคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีพายุเข้าประเทศไทย 1–2 ลูก โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ ในขณะที่ปรากฏการณ์เอลนีโญ่–ลานีญ่า (ENSO) ปัจจุบันอยู่ในสภาวะเป็นกลางและคาดว่าจะคงอยู่ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนกันยายน–พฤศจิกายน 2568 ซึ่งจะช่วยให้การกระจายตัวของฝนในปีนี้ค่อนข้างดีและมีปริมาณสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย

สำหรับการเตรียมความพร้อมรับมือฤดูฝน กรมชลประทานได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2568 ตามมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด ประกอบด้วย การเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด การบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้เหมาะสม การตรวจสอบอาคารชลประทานให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน การเตรียมเครื่องจักรกล เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ การเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการบูรณาการทำงานร่วมกับจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *