‘ยุทธศักดิ์ สุภสร’ อดีตผู้ว่าฯ ททท. ผ่าทางตัน ‘วิกฤตท่องเที่ยวไทย’ เสนอสูตร ‘3R’ กอบกู้นักท่องเที่ยวจีน เน้น ‘คุณภาพ-ความปลอดภัย’
นายยุทธศักดิ์ สุภสร อดีตผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยสถานการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยที่กำลังเผชิญภาวะ ‘ตกลงอย่างอิสระ’ (Freefall) โดยเฉพาะจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงอย่างรวดเร็ว จำเป็นต้อง ‘Stop the Freefall’ หรือหยุดวิกฤตนี้ให้ได้ เพื่อดึงนักท่องเที่ยวกลับมา และถือโอกาสนี้ปรับโครงสร้างการท่องเที่ยวไปสู่กลุ่มคุณภาพมากขึ้น ผ่านแนวคิด “3R : Rebrand – Reboot – Reform”
ภายใต้หัวใจหลักคือ “Thailand: Land of Smiles defined by Quality, Trusted for Safety” หรือ “ประเทศไทย ดินแดนแห่งรอยยิ้มที่มั่นใจได้ในคุณภาพและความปลอดภัย”
- Rebrand: มุ่งปรับภาพลักษณ์ใหม่ให้ประเทศไทย เน้นประสบการณ์ ‘สนุก’ (Sanuk) ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต ดนตรี กีฬา อาหาร และธรรมชาติ เพื่อสร้างการจดจำบนเวทีโลก โดยใช้คอนเทนต์สร้างสรรค์ ทัวร์เสมือนจริง อินฟลูเอนเซอร์ และสื่อระดับโลกในการสื่อสาร
- Reboot: เน้นฟื้นรายได้และปริมาณนักท่องเที่ยว ด้วยการขยายตลาดคุณภาพ เช่น MICE (การจัดประชุม นิทรรศการ), กลุ่มสุขภาพและธุรกิจ (Health & Wellness / Bleisure) เพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้เพียงพอ พร้อมผลักดันโปรโมชั่นสายการบินให้ราคาตั๋วไม่สูงเกินไป เพื่อดึงทั้งนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่และกลุ่มที่เคยมาแล้วให้กลับมาอีกครั้ง
- Reform: ปฏิรูปอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พัฒนาแหล่งท่องเที่ยวคุณภาพโดยอิงอัตลักษณ์ท้องถิ่น ยกระดับความปลอดภัย โครงสร้างพื้นฐาน และบริการให้ได้มาตรฐานโลก รวมถึงส่งเสริมการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมและยั่งยืนในทุกมิติ
นายยุทธศักดิ์ย้ำว่า การสร้างภาพลักษณ์ใหม่เพียงอย่างเดียวไม่พอ ต้องสร้างความมั่นใจและความรู้สึกปลอดภัยให้นักท่องเที่ยว รวมถึงปัจจัยด้าน Ease & Safe of Traveling เช่น คุณภาพบริการรถแท็กซี่ การพัฒนาระบบเตือนอุบัติเหตุ/อุบัติภัยหลายภาษา ชู Soft Power และเมืองรองเป็นจุดขาย เพื่อลบภาพเดิมๆ ที่เป็นปัญหา และสร้างภาพจำใหม่ที่เน้นคุณภาพและความเป็นส่วนตัว
ข้อมูลสถิติสะท้อนวิกฤต: นักท่องเที่ยวจีนหายไปอย่างน่าตกใจ
นายยุทธศักดิ์ชี้ว่า นักท่องเที่ยวจีนเคยเป็นตลาดหลักที่สำคัญที่สุด แต่จากข้อมูลระหว่างวันที่ 1 ม.ค. – 11 พ.ค. 2568 มีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยเพียง 1.76 ล้านคน ลดลงถึง 31.15% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2567 ซึ่งแตกต่างจากปี 2562 ก่อนโควิด-19 ที่มีนักท่องเที่ยวจีนสูงถึง 10.8 ล้านคน คิดเป็น 27% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด หรือเฉลี่ยวันละประมาณ 30,000 คน
สถิติจาก ททท. พบว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. – 11 พ.ค. 2568 นักท่องเที่ยวเข้าไทยรวม 12.9 ล้านคน ลดลง 1% จากปีก่อน โดยเฉพาะตลาดเอเชียที่เป็นตลาดหลักกว่า 60% กลับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง ทำให้นักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนเหลือเพียง 14% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด เทียบกับ 27% ในปี 2562
สาเหตุที่นักท่องเที่ยวจีนเมินไทย?
สาเหตุหลักมาจากปัญหาภาพลักษณ์เชิงลบที่สะสม ทั้งจากภาพยนตร์ (เช่น No More Bets ที่สื่อถึงแก๊งฉ้อโกง ค้ามนุษย์) ข่าวอาชญากรรม และข่าวร้ายที่เผยแพร่บนโซเชียลมีเดียจีนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของ Dragon Trail International ที่พบว่า ความกังวลในการมาเที่ยวไทยของคนจีน เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว จาก 28% ในปี 2565 เป็น 51% ในปี 2566
นอกจากนี้ Tongcheng Travel และ Trip.com ผู้ให้บริการท่องเที่ยวรายใหญ่ในจีน ระบุว่า ญี่ปุ่นกลายเป็นจุดหมายปลายทางอันดับ 1 ของชาวจีน ตามด้วยมาเลเซีย สิงคโปร์ เกาหลีใต้ ขณะที่ไทยหล่นมาอยู่อันดับ 5
ปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่:
- เศรษฐกิจจีนชะลอตัว และนโยบายส่งเสริมเที่ยวในประเทศ
- ค่าเงินเยนอ่อนค่า เมื่อเทียบกับเงินหยวนกว่า 25% ทำให้ญี่ปุ่นมีราคาดึงดูดใจกว่า
- ต้นทุนค่าครองชีพในไทยสูงขึ้น ทั้งค่าที่พัก ค่าอาหาร ทำให้ความได้เปรียบด้านราคาลดลง
- การฟื้นตัวของเที่ยวบินจากจีนมาไทยต่ำกว่าคู่แข่ง อยู่ที่ 58% เท่านั้น ขณะที่ญี่ปุ่นฟื้นตัว 108% ลาว 137% มาเลเซีย 115% สิงคโปร์ 103% เวียดนาม 97%
- ภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย ประเทศไทยมีข่าวด้านลบเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ความเชื่อมั่นลดลง ซึ่งสอดคล้องกับดัชนี Travel & Tourism Development (TTDI) ล่าสุดที่จัดอันดับความปลอดภัยของไทยแย่ลงจากอันดับ 88 เป็น 92 จาก 117 ประเทศ
นายยุทธศักดิ์ทิ้งท้ายว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นกลไกสำคัญของเศรษฐกิจไทย เคยฟื้นตัวได้รวดเร็ว แต่จากวิกฤตครั้งนี้ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง มองไปข้างหน้า ไม่ยึดติดความสำเร็จในอดีต เพื่อสร้างความหวัง สร้างคุณค่า และความยั่งยืน ด้วยการ Stop the Freefall: Rebrand/Reboot/Restructure หยุดวิกฤต สร้างภาพลักษณ์ใหม่ที่ สนุก ปลอดภัย ใส่ใจคุณภาพ เสริมสร้างระบบนิเวศที่ดี เพื่อให้การท่องเที่ยวไทยสามารถแข่งขันได้และยั่งยืนต่อไป