ชาวลุ่มน้ำกกผวาฤดูฝนซ้ำรอยอุทกภัย ซ้ำร้ายเจอ ‘สารโลหะหนัก’ ปนเปื้อนหนัก ร้องรัฐไร้แผนรับมือ จี้ปฏิบัติจริง

เชียงราย/เชียงใหม่ – แม้กรมอุตุนิยมวิทยาจะประกาศเข้าสู่ฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 15 พฤษภาคม 2568 แต่ชาวบ้านในพื้นที่ลุ่มน้ำกก โดยเฉพาะในจังหวัดเชียงรายและเชียงใหม่ ยังคงใช้ชีวิตด้วยความหวาดผวาและกังวลใจอย่างหนัก ไม่ใช่เพียงแค่ความเสี่ยงที่จะเกิดอุทกภัยและโคลนถล่มซ้ำรอยเหตุการณ์รุนแรงเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว แต่ความกังวลเรื่องการปนเปื้อนของสารโลหะหนักจากกิจกรรมเหมืองทองขนาดใหญ่ในพื้นที่ต้นน้ำฝั่งรัฐฉาน ประเทศเมียนมา ยิ่งเพิ่มความหวาดระแวงให้กับชาวบ้าน

นายประเสริฐ กายทวน ชาวบ้านร่มไทย ต.ท่าตอน อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ชุมชนแรกที่แม่น้ำกกไหลผ่านพรมแดนไทย เปิดเผยถึงสถานการณ์ว่า จนถึงขณะนี้ ชุมชนยังไม่ได้รับการติดต่อหรือการซักซ้อมแผนรับมือภัยพิบัติจากหน่วยงานภาครัฐใดๆ เลย ทั้งๆ ที่รัฐบาลเคยรับปากไว้ตั้งแต่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ปีที่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านร่มไทยไม่ได้รอความช่วยเหลือแต่เพียงอย่างเดียว ได้รวมกลุ่มหารือกันเพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) ในการติดตั้งเสาวัดระดับน้ำ และเตรียมจัดการอบรมการแจ้งเตือนภัยร่วมกับอีก 6 ชุมชนในลุ่มแม่น้ำกก นอกจากนี้ ยังวางแผนการอพยพไปยังพื้นที่สูง โดยประสานงานกับชาวบ้านเปียงคำ ซึ่งเป็นหมู่บ้านคู่ขนานในฝั่งเมียนมา เพื่อช่วยแจ้งเตือนล่วงหน้า แม้จะยังไม่มั่นใจในเรื่องความเสถียรของสัญญาณโทรศัพท์ และกำลังเตรียมติดตั้งกล้องวงจรปิดระบบโซลาเซลล์เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ

“ที่ผ่านมาหน่วยงานราชการมีแต่คุยเรื่องคุณภาพน้ำและสารโลหะหนัก แต่ยังไม่พูดถึงเรื่องแผนรับมือน้ำท่วม เราไม่รู้ว่าหมู่บ้านอื่นที่ติดลำน้ำเขาทำอย่างไร แต่เราเริ่มที่หมู่บ้านของเราก่อน ชาวบ้านที่อยู่ริมน้ำต่างก็เป็นกังวล บางบ้านโคลนที่ท่วมบ้านปีทีแล้วยังไม่ได้ทาสีทับเลย นี่จะต้องมาเจออีกแล้วหรือ ยิ่งปีนี้เรารู้ว่าในน้ำมีสารโลหะหนักปนอยู่ด้วย ทำให้รู้สึกหวาดระแวงมากขึ้น กลัวมากขึ้น ทุกวันนี้แทบไม่มีใครเล่นน้ำกกเลย” นายประเสริฐ กล่าวสะท้อนความกังวล

เมื่อถามถึงข้อเสนอให้มีการสร้างฝายดักตะกอนกั้นแม่น้ำกกช่วงเข้าไทย นายประเสริฐกล่าวว่า ชาวบ้านยังคงมีคำถามมากมาย ทั้งเรื่องตำแหน่ง ขนาดของฝาย และความสามารถในการดักจับสารหนู รวมถึงวิธีการจัดการตะกอนที่มีสารหนูเข้มข้น หากสร้างฝายแล้วน้ำจะเท้อไปถึงไหน และหมู่บ้านเหนือฝายจะได้รับผลกระทบหรือไม่ ซึ่งคำถามเหล่านี้ยังไม่มีหน่วยงานใดให้คำตอบที่ชัดเจนได้

“คุณควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุมากกว่า ไม่ใช่มาแก้ปัญหาแบบตั้งรับในพื้นที่ของเรา เรารู้ว่าสารหนูเกิดจากน้ำมือคน จึงต้องแก้ไขที่คนทำ หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง ควรเข้าไปเจรจา ทุกวันนี้ชาวบ้านเครียดมาก โดยเฉพาะเกษตรกร ที่ขายพืชผักไม่ได้ ชาวบ้านทำอะไรก็ติดขัดไปหมด” นายประเสริฐ กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน น.ส.จุฑามาศ ราชประสิทธิ์ เจ้าหน้าที่อาวุโสมูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา (พชภ.) กล่าวว่า ในวันเดียวกัน (15 พ.ค. 68) เครือข่ายข้อมูลอุทกภัยแม่น้ำกก ร่วมกับสำนักทรัพยากรน้ำที่ 1 และอุทกวิทยาที่ 2 จ.เชียงราย ได้ร่วมกันติดตั้งเสาวัดระดับน้ำในฤดูฝนที่หมู่บ้านจะคือ ต.ห้วยชมภู อ.เมือง จ.เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งใน 7 หมู่บ้านริมแม่น้ำกกที่ พชภ. ดำเนินการด้านการเตือนภัยน้ำหลากท่วม โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบเรื่องระบบการแจ้งเตือนภัยของภาครัฐ และยังคงกังวลถึงเหตุการณ์น้ำท่วมและโคลนถล่มซ้ำรอยปีที่แล้ว โดยเฉพาะหมู่บ้านจะคือที่ได้รับความเสียหายหนักมาก ทั้งบ้านเรือน ทรัพย์สิน และพื้นที่เกษตรกรรม

ส่วนมุมมองทางวิชาการ ผศ.ดร.เสถียร ฉันทะ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฎเชียงราย และผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการลุ่มน้ำโขงเหนือ กล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) มีแผนรับมือภัยพิบัติและมาตรการที่เขียนไว้ดีระดับหนึ่ง แต่ปัญหาคือยังไม่เคยนำมาใช้ในทางปฏิบัติจริง และที่สำคัญคือไม่มีการซ้อมแผน ทำให้หากเกิดเหตุการณ์ขึ้น หน่วยงานต่างๆ จะไม่ทราบลำดับขั้นตอนการทำงาน ผู้ว่าราชการจังหวัดและ ปภ. ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับจังหวัด ควรต้องซักซ้อมแผนทำความเข้าใจ

ผศ.ดร.เสถียร ย้ำว่า แผนเหล่านี้ยังไม่นำไปสู่การตื่นรู้ของประชาชนในการรับมือภัยพิบัติ แม้ใช้งบประมาณมหาศาลไปกับแผนแม่บทต่างๆ ส่วนใหญ่เป็นงบโครงสร้าง ไม่ใช่การสร้างความเข้าใจ โดยคำตอบที่มักได้รับคือไม่มีงบประมาณและเป็นหน้าที่ของหน่วยงานท้องถิ่น

เมื่อถามถึงคำแนะนำถึงภาครัฐเมื่อเข้าสู่ฤดูฝนแล้ว ผศ.ดร.เสถียร ชี้ว่า รัฐต้องเร่งลงไปทำกิจกรรม จัดเวทีสร้างการรับรู้ เตรียมความพร้อมกับชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงทั่วลุ่มน้ำ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำสาย แม่น้ำกก หรือพื้นที่อื่นๆ โดยต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชน หากไม่สร้างความเข้าใจ ปัญหาซ้ำซากก็จะเกิดขึ้นอีก การขุดลอกแม่น้ำสายที่กำลังทำอยู่ช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่เป็นเพียงการแก้ปัญหาปลายเหตุและต้องทำซ้ำทุกปี

ประเด็นเรื่องสารโลหะหนักจากเหมืองแร่ในรัฐฉาน ถือเป็นการเพิ่มความเสี่ยงอย่างยิ่ง ผศ.ดร.เสถียร ระบุว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังไม่ทราบถึงปัญหาและพิษภัยของสารหนู ซึ่งไม่ได้ออกฤทธิ์เฉียบพลัน แต่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในระยะยาว เหมือนกรณี อ.ร่อนพิบูลย์ จ.นครศรีธรรมราช หากไม่จัดการที่ต้นเหตุ โลหะหนักจะปนเปื้อนไปกับน้ำ ตกตะกอนในพื้นที่ต่างๆ และเข้าสู่ห่วงโซ่อาหารผ่านการทำเกษตรกรรม ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ที่ต้องเร่งแก้ไขที่แหล่งกำเนิด

ในขณะเดียวกัน เพจ สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดเชียงราย ได้รายงานความเคลื่อนไหวจากภาครัฐว่า ในวันเดียวกัน (15 พ.ค. 68) นายชรินทร์ ทองสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำและหารือการขุดลอกแม่น้ำสาย – แม่น้ำรวก ณ อำเภอแม่สาย โดยมีเจ้ากรมการทหารช่าง และหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม

ในที่ประชุม เจ้ากรมการทหารช่างได้รายงานความคืบหน้าโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติพื้นที่อำเภอแม่สาย ซึ่งมีกิจกรรมสำคัญคือ การขุดลอกแม่น้ำรวกความยาวรวม 32 กม. และการสร้างแนวป้องกันชั่วคราว-กึ่งถาวร ในเขตเมืองแม่สาย ระยะทาง 3,600 เมตร ซึ่งเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2568 โดยมีความคืบหน้าอยู่ที่ 15% และ 34% ตามลำดับ และได้รับคำสั่งให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2568 ก่อนฤดูน้ำหลาก

นอกจากนี้ ธนารักษ์พื้นที่จังหวัดเชียงราย ได้แจ้งว่ามีผู้ที่ทำสัญญาเช่าที่ราชพัสดุที่อยู่ในเขตแนวป้องกันน้ำริมน้ำสาย 15 ราย ซึ่งได้แจ้งยกเลิกสัญญาเช่าแล้ว และหากพ้นกำหนดจะดำเนินคดีตามกฎหมาย ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้กำชับให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องเร่งทำความเข้าใจและขอความร่วมมือประชาชนที่ยังอยู่ในพื้นที่แนวป้องกันน้ำ ให้เคลื่อนย้ายออกเพื่ออำนวยความสะดวกในการก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามกำหนด เพื่อความปลอดภัยของประชาชนชาวแม่สายเอง

สถานการณ์ในพื้นที่ลุ่มน้ำกกจึงยังเต็มไปด้วยความกังวล ชาวบ้านส่วนใหญ่ยังคงต้องพึ่งพาตนเองและเครือข่ายชุมชนในการเตรียมรับมือกับภัยพิบัติที่คาดว่าจะมาถึง ขณะที่ความเสี่ยงด้านสุขภาพจากสารโลหะหนักที่ปนเปื้อนก็เป็นเรื่องใหม่ที่สร้างความตื่นตระหนกและต้องการการแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุอย่างจริงจังจากภาครัฐ

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *