น้อมรำลึก 10 ปี มรณกาล ‘หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ’ วัดบ้านไร่ เกจิดังที่ชาวไทยยังคงเลื่อมใสไม่เสื่อมคลาย

นครราชสีมา – วันนี้ (16 พ.ค. 2568) พุทธศาสนิกชนชาวไทยร่วมกันน้อมรำลึกครบรอบ 10 ปี แห่งการละสังขารของ พระเทพวิทยาคม หรือที่รู้จักกันในนาม หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ อดีตเจ้าอาวาสวัดบ้านไร่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา พระเกจิอาจารย์ชื่อดังที่ได้รับความเลื่อมใสศรัทธาจากพุทธศาสนิกชนทั่วประเทศมากที่สุดรูปหนึ่งในยุคปัจจุบัน

หลวงพ่อคูณเป็นที่ประจักษ์แก่ศิษยานุศิษย์และสาธุชนทั่วไปด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่น คือ การนั่งยองๆ การใช้คำพูดแบบเป็นกันเองอย่าง กู-มึง รวมถึงการดำรงตนอย่างสมถะและสันโดษ ซึ่งกลายเป็นภาพที่ติดตาและอยู่ในความทรงจำของผู้คนมาโดยตลอด

ด้านวัตถุมงคลของหลวงพ่อคูณ ไม่ว่าจะเป็นเหรียญ รูปหล่อ หรือเครื่องรางต่างๆ ล้วนได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของนักสะสมและผู้ศรัทธา เนื่องจากเชื่อในพุทธคุณและความเมตตาบารมีของท่าน

ย้อนไปในประวัติ หลวงพ่อคูณเกิดในสกุล ฉัตรพลกรัง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ที่บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา ท่านต้องสูญเสียโยมบิดามารดาไปตั้งแต่ยังเยาว์วัย จึงอยู่ในความอุปการะของน้าสาว ในวัยเด็ก ท่านได้มีโอกาสเรียนหนังสือและศึกษาธรรมะ รวมถึงวิทยาคมจากพระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หล

เมื่ออายุครบ 21 ปี ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบท ณ พัทธสีมาวัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ได้รับฉายาว่า ปริสุทโธ หลังจากนั้น ท่านได้ศึกษาพระปริยัติธรรมและวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด โดยได้ฝากตัวเป็นศิษย์ของ หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ และต่อมาได้ไปฝากตัวเป็นศิษย์ หลวงพ่อคง พุทธสโร พระเกจิอาจารย์ชื่อดังอีกรูปหนึ่ง ซึ่งทั้งสองรูปนี้เป็นสหธรรมิกและได้ประสิทธิ์ประสาทวิชา รวมถึงแนวทางการปฏิบัติธรรมเบื้องสูงให้แก่หลวงพ่อคูณ

ภายหลังจากที่ศึกษาและปฏิบัติธรรมจนแก่กล้าแล้ว หลวงพ่อคงได้แนะนำให้หลวงพ่อคูณออกธุดงค์จาริกไปในป่าเขา เพื่อฝึกฝนปฏิบัติให้ถึงขั้นสูงสุด ท่านได้ธุดงค์ไปในหลายพื้นที่ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว และกัมพูชา ก่อนจะเดินทางกลับสู่มาตุภูมิที่จังหวัดนครราชสีมา

เมื่อกลับมาถึงบ้านเกิด หลวงพ่อคูณได้เริ่มดำเนินการพัฒนา วัดบ้านไร่ อย่างจริงจัง ท่านได้นำปัจจัยที่ได้รับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาไปใช้ในการก่อสร้างและพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ ภายในวัด เช่น อุโบสถ กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ รวมถึงขุดสระน้ำ นอกจากนี้ ท่านยังได้สร้าง โรงเรียนบ้านไร่ ขึ้น เพื่อให้เยาวชนในพื้นที่ได้มีโอกาสศึกษาเล่าเรียน

หลวงพ่อคูณได้ชื่อว่าเป็น พระนักพัฒนา อย่างแท้จริง ท่านมีเมตตาบารมีสูง ทำให้มีสาธุชนจำนวนมากหลั่งไหลมาทำบุญและบริจาคทาน ปัจจัยจำนวนมหาศาลที่ท่านได้รับ ได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาสาธารณประโยชน์ในหลากหลายด้าน ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และบางส่วนยังแผ่ขยายไปถึงต่างแดน ก่อให้เกิดคุณูปการมหาศาลต่อสังคมไทย

หลวงพ่อคูณได้รับพระราชทานสมณศักดิ์มาตามลำดับ อาทิ พระญาณวิทยาคมเถร ในปี พ.ศ. 2535, พระราชวิทยาคม ในปี พ.ศ. 2539 และพระเทพวิทยาคม ในปี พ.ศ. 2547

ในช่วงบั้นปลายชีวิต ด้วยอายุขัยที่มากขึ้นและปัญหาสุขภาพ ทำให้หลวงพ่อคูณต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลอยู่บ่อยครั้ง จนกระทั่งเมื่อเวลา 11.45 น. ของวันเสาร์ที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 หลวงพ่อคูณได้มรณภาพอย่างสงบ ณ โรงพยาบาลมหาราช นครราชสีมา สิริอายุ 92 ปี 71 พรรษา

แม้เวลาจะผ่านไปครบ 10 ปีแล้ว แต่คุณงามความดี วัตรปฏิบัติอันเรียบง่าย และคุณูปการอันยิ่งใหญ่ที่หลวงพ่อคูณมีต่อสังคมไทย ยังคงอยู่ในความทรงจำและความเลื่อมใสศรัทธาของพุทธศาสนิกชนตลอดไป

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *