กมธ.ปปช. เดือด! ถล่ม สตง. จี้ “ผู้ว่าฯ” ลาออก รับผิดชอบตึกถล่ม ลั่นอย่ากอดเก้าอี้ขวางสอบ
ที่รัฐสภา คณะกรรมาธิการ (กมธ.) การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตึกสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ที่ถล่มลงมาภายหลังเหตุแผ่นดินไหว เข้าชี้แจงข้อเท็จจริง
นายฉลาด ขามช่วง สส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้เชิญบริษัทที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบอาคาร สตง. คือ บริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด และนายพิมล เจริญยิ่ง ผู้ที่ลงนามรับรองแบบ รวมถึงวิศวกรผู้ควบคุมงาน นอกจากนี้ยังได้เชิญกรมบัญชีกลางและกรมสรรพากรมาชี้แจงในประเด็นการจัดซื้อจัดจ้างและการเสียภาษี
นายฉลาด ระบุว่า จากการชี้แจงพบว่า นายพิมล ซึ่งมีอายุถึง 85 ปี ยอมรับว่าเป็นผู้ลงนามรับรองแบบอาคาร สตง. จริง แต่ไม่ได้เป็นผู้ออกแบบเอง ประธาน กมธ. ยังตั้งข้อสังเกตถึงแนวทางการบริหารราชการในต่างประเทศ ที่เมื่อเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น หัวหน้าหน่วยงานจะต้องแสดงความรับผิดชอบ ดังนั้น ในประเทศไทยก็ควรจะมีแบบอย่างการแสดงความรับผิดชอบเช่นกัน
ด้านนายธีรัจชัย พันธุมาศ สส.กทม. พรรคประชาชน ในฐานะรองประธาน กมธ. ได้เปิดเผยถึงข้อเท็จจริงที่ได้จากการสอบถามหน่วยงานต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทผู้ออกแบบ ซึ่งมี บริษัท ฟอ-รัม อาร์คิเทค จำกัด และบริษัท ไมนฮาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด โดยเมื่อทำสัญญาเสร็จสิ้น ทางผู้ว่าฯ สตง. เคยชี้แจงต่อ กมธ. ครั้งก่อนว่า มีการแก้แบบทั้งหมด 9 ครั้ง
นายธีรัจชัย กล่าวว่า ตนได้สอบถามผู้ออกแบบ ซึ่งยอมรับว่ามีการขอแก้ไขระหว่างการก่อสร้างจริง 9 ครั้ง แต่ไม่ใช่การแก้แบบทั้งหมด เป็นเพียงการแก้ไขข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งผู้บริหารโครงการเห็นว่าควรแก้ไข และมี 2 จุดที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง คือ การปรับขนาดและความสูงของปล่องลิฟต์ให้เล็กลงและต่ำลง ซึ่งผู้ออกแบบให้ความเห็นว่าไม่ขัดข้อง ผู้รับเหมาฯ ก็ดำเนินการตามแบบแก้ไข
รองประธาน กมธ. ตั้งคำถามว่า การแก้ไขข้อขัดข้องดังกล่าว ถือเป็นการทำให้โครงสร้างสะเทือนหรือไม่ และใครมีอำนาจอนุมัติในจุดนี้ แม้ทางผู้ออกแบบจะยืนยันว่าเป็นการแก้ไขข้อขัดข้องตามสัญญา แต่การแก้ไขสัญญาได้ต้องมีความเห็นชอบจากผู้ออกแบบ ผู้รับเหมาก่อสร้าง ผู้ควบคุมงาน และคณะกรรมการตรวจรับการจ้าง ซึ่งคณะกรรมการเหล่านี้ล้วนแต่งตั้งโดยผู้ว่าฯ สตง. ทั้งสิ้น
นายธีรัจชัย ชี้ชัดว่า ผู้ว่าฯ สตง. จะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ เพราะที่ผ่านมาได้ฟังแต่การโยนความรับผิดชอบไปยังผู้ควบคุมงาน ผู้จ้างงาน หรือผู้ออกแบบ โดยไม่เคยเห็นความรับผิดชอบจากผู้ว่าฯ สตง. เลย ทั้งที่ข้อเท็จจริงคือ ตึกพัง มีคนเสียชีวิต แต่ สตง. ไม่เคยแสดงความรับผิดชอบอย่างจริงใจต่อชีวิตที่สูญเสียไปในฐานะผู้ว่าฯ สตง.
นายธีรัจชัย กล่าวอย่างดุเดือดว่า แม้ผู้ว่าฯ สตง. จะอ้างว่าเพิ่งเข้ามารับตำแหน่งได้เพียงปีเศษ ก็ไม่ใช่เหตุผลที่จะไม่รับผิดชอบ ควรจะแสดงความรับผิดชอบด้วยใจจริง จึงขอเรียกร้องให้ผู้ว่าฯ สตง. รับผิดชอบมากกว่านี้ อย่ากอดเก้าอี้ไว้เลย ทางที่ดีที่สุดคือ ขอให้ผู้ว่าฯ สตง. ลาออกจากตำแหน่ง เพื่อให้ผู้รักษาการได้ดำเนินการตรวจสอบอย่างจริงจัง เพราะหากผู้ว่าฯ สตง. ยังอยู่ในตำแหน่ง เชื่อว่าการตรวจสอบจะไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่
“ท่านอย่ากอดเก้าอี้ไว้เลย ขอให้แสดงความรับผิดชอบออกมาให้ประชาชนได้เห็น อย่าโยนไปโยนมาแล้วตัวเองลอยตัว ผมคิดว่าไม่สง่างาม ถึงวันนี้แม้ข้อเท็จจริงจะไม่สมบูรณ์ร้อยเปอร์เซนต์ แต่มีการออกหมายเรียกและมีความผิดพลาดเยอะแยะ ท่านหนีไม่ได้” นายธีรัจชัย กล่าวย้ำทิ้งท้าย