ซีพี เดินหน้า ‘SEACOSYSTEM’ จับมือพันธมิตร วาง ‘ซั้งบ้านปลา’ 50 ชุด ฟื้นฟูทะเลปัตตานี ย้ำภูมิปัญญาท้องถิ่นสร้างความยั่งยืน

ปัตตานี, 2 พฤษภาคม 2568 – เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ย้ำความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ภายใต้แนวคิด ‘SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน’ ล่าสุดร่วมกับ สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (ปัตตานี), กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, สำนักงานประมงจังหวัดปัตตานี, กรมประมง, ศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลปัตตานี, เทศบาลตําบลปะนาเระ, ชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระ และกลุ่มธุรกิจในเครือซีพี โดย บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด พื้นที่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส จัดกิจกรรมวางซั้งบ้านปลาจำนวน 50 ชุด ณ พื้นที่อ่าวไทยตอนล่าง จังหวัดปัตตานี.

กิจกรรมดังกล่าวได้รับเกียรติจาก นายมนตรี หามนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 เป็นประธาน พร้อมด้วย เรือเอกธัญญะ ฉุยโรจน์ธรรม ประมงจังหวัดปัตตานี, นายโชคชัย เมืองสง ผู้อำนวยการศูนย์ป้องกันและปราบปรามประมงทะเลปัตตานี, นายสุไลมาน ดาราโอะ ประธานชมรมประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระ, นายนนท์ นาคะเสถียร ผู้จัดการทั่วไป สำนักปฏิบัติการความยั่งยืนทางทะเล เครือเจริญโภคภัณฑ์ และชาวบ้านในพื้นที่.

นายจอมกิตติ ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหาร ผู้บริหารสูงสุดด้านพัฒนาความยั่งยืนภาครัฐและกิจการสัมพันธ์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า กิจกรรมวางซั้งบ้านปลาในครั้งนี้เป็นส่วนสำคัญของนโยบาย ‘SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน’ ซึ่งมุ่งเน้นการอนุรักษ์ ปกป้อง และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล ควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตชุมชน การดำเนินงานนี้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของซีพีในการสร้างสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นประโยชน์ต่อชุมชนชายฝั่งและประเทศชาติในระยะยาว พร้อมทั้งส่งเสริมอาชีพและยกระดับคุณภาพชีวิตชาวประมงพื้นบ้าน และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยย้ำว่า “ทะเลเป็นทั้งแหล่งอาหารและวิถีชีวิตของคนหลายล้านคน การฟื้นฟูวันนี้คือการลงทุนเพื่ออนาคต ซึ่งชุมชนเป็นเจ้าของอย่างแท้จริง”

โครงการ ‘ซีพี ร้อยเรียงความดี SEACOSYSTEM เพื่อทะเลไทยยั่งยืน’ มีแผนขยายการวางซั้งบ้านปลาในปีนี้รวม 13 พื้นที่ ทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน โดยเริ่มที่ปะนาเระ จังหวัดปัตตานี เป็นแห่งแรก จำนวน 50 ชุด เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีระบบนิเวศอุดมสมบูรณ์ และมีเป้าหมายเร่งเพิ่มซั้งบ้านปลาให้ครบ 530 ชุดทั่วทะเลชายฝั่งในอนาคต.

ซั้งบ้านปลาที่นำมาใช้ในโครงการนี้เกิดจากภูมิปัญญาของปราชญ์ชาวประมงพื้นบ้านตำบลปะนาเระ ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ทางมะพร้าวและไม้ไผ่ ทำหน้าที่เป็นแหล่งหลบภัย อนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน และเป็นจุดดึงดูดให้ทรัพยากรกลับคืนสู่ระบบนิเวศชายฝั่ง.

ผลจากการทดลองวางซั้งบ้านปลาเมื่อปี 2567 โดยความร่วมมือกับทุกภาคส่วน พบว่าตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงตุลาคม มีความหลากหลายและปริมาณสัตว์น้ำเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ 3 และ 6 หลังการวาง สัตว์น้ำที่พบมากที่สุดคือ ปลาหลังเขียว (76.78%) ตามด้วย ปลาโคก (16.89%), ปลาแมว (3.69%), ปลาแป้นแก้ว (2.46%) และปลาดาบลาว (0.18%) ซึ่งแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของซั้งบ้านปลาในการฟื้นฟู แม้ซั้งจะมีอายุจำกัดและต้องมีการซ่อมแซมหรือทดแทน แต่การมีส่วนร่วมและความภาคภูมิใจของชุมชนคือพลังขับเคลื่อนสำคัญสู่ความยั่งยืน.

ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ยืนยันว่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทะเลชายฝั่งมีการฟื้นตัวอย่างเห็นได้ชัด ทั้งแนวหญ้าทะเล ธนาคารปู และปะการัง รวมถึงปริมาณสัตว์น้ำที่จับได้ ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้และรักษาอาชีพประมงพื้นบ้านไว้ได้ “ทะเลมีชีวิต รายได้ก็คืนมา” ชาวบ้านกล่าว.

เครือเจริญโภคภัณฑ์ และพันธมิตร ยืนยันเดินหน้าโครงการ ‘ซีพีร้อยเรียงความดี’ อย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายผลสู่พื้นที่ชายฝั่งอื่น ๆ ทั่วประเทศ โดยมุ่งให้ชุมชนเป็นหัวใจหลักในการดูแลรักษาทะเลไทยให้ยั่งยืนสืบไป.

#ซีพีร้อยเรียงความดี #CPGoodDeeds #Seacosystem #เพื่อทะเลไทยยั่งยืน #ซั้งบ้านปลา #คืนชีวิตสู่ทะเล

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *