กลาโหมไทย ‘วืด’! รมว.กลาโหม เยอรมนี ปฏิเสธขาย ‘เครื่องยนต์เรือดำน้ำ’ อ้างติดข้อห้าม EU ส่งออกให้จีน

เบอร์ลิน, เยอรมนี – เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 เวลา 10.25 น. ตามเวลาท้องถิ่น ได้เกิดประเด็นสำคัญในการหารือทวิภาคีระหว่าง นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของไทย และนาย Boris Pistorius รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ณ กรุงเบอร์ลิน

ในการหารือครั้งนี้ ซึ่งเกิดขึ้นท่ามกลางการประชุม United Nations Peacekeeping Ministerial Meeting ครั้งที่ 6 (UNPKM 2025) ที่เยอรมนีเป็นเจ้าภาพ นายภูมิธรรมได้กล่าวชื่นชมบทบาทของเยอรมนี และแสดงความยินดีต่อการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ รวมถึงความยินดีที่นาย Pistorius ยังคงดำรงตำแหน่ง ซึ่งสะท้อนถึงความต่อเนื่องทางนโยบาย

ทั้งสองฝ่ายได้ยืนยันถึงความสัมพันธ์อันดีระหว่างไทยและเยอรมนีที่มีมายาวนานถึง 163 ปี และความร่วมมือที่เพิ่มขึ้นในหลากหลายด้าน โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ซึ่งเยอรมนีเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในสหภาพยุโรป

ประเด็นด้านความมั่นคงและการทหารเป็นหัวข้อสำคัญในการพูดคุย ไทยได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติการรักษาสันติภาพภายใต้อาณัติสหประชาชาติ และความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาขีดความสามารถของกองทัพให้ได้มาตรฐานสากล พร้อมทั้งแจ้งว่าไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการฝึกอบรมภายใต้โครงการความร่วมมือไตรภาคี (Triangular Partnership Programme: TPP) ในช่วงปี 2570-2571 และหวังที่จะพัฒนาความร่วมมือกับเยอรมนีในด้านนี้

ความร่วมมือทางทหารทวิภาคีระหว่างสองประเทศมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการแลกเปลี่ยนการเยือน การหารือเฉพาะด้าน การสนับสนุนที่นั่งศึกษา และการจัดหายุทโธปกรณ์ ทั้งสองฝ่ายแสดงความยินดีกับความสำเร็จของการประชุมโครงการความร่วมมือระดับทวิภาคีฯ ประจำปี 2568 และการประชุมหารือด้านความมั่นคงเจ้าหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการฯ ครั้งที่ 7 นอกจากนี้ ไทยยังขอบคุณเยอรมนีที่สนับสนุนการศึกษาทางทหารให้กำลังพลไทย ซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาศักยภาพ

ไทยยังได้แสดงความประสงค์ที่จะขยายความร่วมมือไปยังด้านการพัฒนาขีดความสามารถทางไซเบอร์และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) รวมถึงขอรับการสนับสนุนด้านการแพทย์ทหาร

กระทรวงกลาโหมของไทยกำลังเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อพึ่งพาตนเองและสนับสนุนเอกชน โดยมุ่งเน้นที่ 4 ผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ ยานพาหนะเพื่อความมั่นคง อุตสาหกรรมต่อเรือ อากาศยานไร้คนขับ และอาวุธและกระสุน ไทยจึงได้เชิญชวนเยอรมนีให้พิจารณาการที่ไทยจะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานด้านนี้ และเชิญเข้าร่วมงาน Defense & Security 2025

อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่สื่อมวลชนให้ความสนใจอย่างยิ่งคือ การติดตามสอบถามความเป็นไปได้ในการจัดหาเครื่องยนต์สำหรับเรือดำน้ำที่ไทยจัดหาจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งนายภูมิธรรมเคยสอบถามไปยังกระทรวงกลาโหมเยอรมนีแล้วในครั้งนี้

นาย Boris Pistorius รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมนี ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนว่า เยอรมนีไม่สามารถดำเนินการขายเครื่องยนต์ดังกล่าวให้กับไทยได้ โดยให้เหตุผลว่า สหภาพยุโรป (EU) มีข้อห้ามในการส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้กับสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ทำให้การจัดหาเครื่องยนต์จากเยอรมนีสำหรับเรือดำน้ำลำนี้ไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ปิดท้ายการหารือ ทั้งสองฝ่ายได้แสดงความขอบคุณซึ่งกันและกันสำหรับการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และหวังว่าจะได้ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดต่อไปเพื่อยกระดับความสัมพันธ์และความร่วมมือในทุกระดับให้เกิดผลเป็นรูปธรรม

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *