AIS จับมือภาครัฐและกว่า 100 องค์กร ประกาศ ‘ปีแห่งความปลอดภัยไซเบอร์’ ระดมพลังหยุดยั้งอาชญากรรมออนไลน์

กรุงเทพฯ – เมื่อเร็วๆ นี้ เอไอเอส ในฐานะผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและบริการโทรคมนาคม ได้ผนึกกำลังครั้งสำคัญกับสำนักงานคณะกรรมการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมด้วยเครือข่ายกว่า 100 องค์กรภาคส่วนต่างๆ ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่เป้าหมาย “ปีแห่งความปลอดภัยไซเบอร์” (Cybersecurity Year) โดยมีเป้าหมายหลักคือการรวมพลังจากทุกภาคส่วนในการสร้างความเข้มแข็งด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้กับประเทศ เพื่อยับยั้งและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลในการปกป้องประชาชนจากภัยร้ายที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและความมั่นคงทางสังคม

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความสำคัญของการรับมือกับภัยคุกคามทางไซเบอร์ โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่สร้างความเสียหายให้กับประชาชน รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและผลักดันงานด้านความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ทั้งการออกและปรับปรุงกฎหมาย การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน และการยกระดับความมั่นคงของประเทศ โดยเร่งปราบปรามยาเสพติด อาชญากรรมข้ามชาติ และแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ผ่านมาตรการ “Seal Stop Safe” การควบคุมบริเวณชายแดน การตัดช่องทางของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงการแก้ไขกฎหมายเพื่อควบคุมบัญชีม้าและซิมม้า พร้อมร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ เช่น กสทช. ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กระทรวงดีอี และภาคเอกชนอย่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมและแพลตฟอร์มดิจิทัล รัฐบาลจะเดินหน้ายกระดับนโยบายความปลอดภัยไซเบอร์เป็นวาระแห่งชาติ และร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน เพื่อสร้างสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัย ซึ่งถือเป็นภารกิจร่วมกันของคนในชาติ

ด้าน พลตำรวจโท ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบงานความมั่นคงและกิจการพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยว่า สังคมไทยกำลังเผชิญปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่รุนแรงขึ้น โดยมิจฉาชีพมีการพัฒนารูปแบบการหลอกลวงที่หลากหลาย ก่อให้เกิดความเสียหายต่อข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก จากสถิติการรับแจ้งความออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565 ถึง 30 เมษายน 2567 พบว่ามีจำนวนรวมสูงถึง 887,315 เรื่อง สร้างความเสียหายกว่า 89,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 77 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นการหลอกลวงผ่านแอปพลิเคชันปลอม การดูดเงินจากบัญชีโดยไม่รู้ตัว หรือการเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลโดยมิชอบ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งยกระดับมาตรการป้องกันและแก้ไขในทุกมิติเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีการทำงานเชิงรุก ทั้งการป้องกัน ปราบปราม และพัฒนากลไกการทำงานให้เท่าทันรูปแบบอาชญากรรมใหม่ๆ มีศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (PCTOC) เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ข้อมูล และปฏิบัติการเชิงรุก มีการนำเทคโนโลยี AI และระบบ Transaction Analysis มาใช้ในการติดตามเส้นทางการเงินของมิจฉาชีพ และร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตร รวมถึงผู้ให้บริการโครงข่ายอย่าง AIS เพื่อบูรณาการและขยายผลการปราบปราม มั่นใจว่าการยกระดับความร่วมมือสู่ “ปีแห่งความปลอดภัยไซเบอร์” ในครั้งนี้ จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนสังคมไทยให้มีความปลอดภัยไซเบอร์อย่างยั่งยืน

นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส กล่าวว่า ในฐานะผู้ให้บริการดิจิทัลที่มีบทบาทสำคัญในการเชื่อมต่อผู้คนเข้าสู่โลกออนไลน์ เอไอเอส มุ่งมั่นสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะทางไซเบอร์อย่างต่อเนื่อง ภายใต้ภารกิจ “อุ่นใจไซเบอร์” เพื่อส่งเสริมการใช้งานอย่างปลอดภัย ทั้งการปฏิบัติตามมาตรการภาครัฐ การควบคุมระดับสัญญาณโทรศัพท์ในพื้นที่ชายแดน การร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจปราบปรามมิจฉาชีพและแก๊งคอลเซ็นเตอร์ การพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อเสริมความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ เช่น สายด่วน 1185 AIS Spam Report Center และบริการแจ้งความมิจฉาชีพ *1185# อุ่นใจใช้บริการ และการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและทักษะดิจิทัลให้ประชาชนผ่านหลักสูตร อุ่นใจไซเบอร์ และการสร้าง Digital Health Index เอไอเอส เชื่อว่าความปลอดภัยไซเบอร์ไม่ใช่หน้าที่ขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วน ความร่วมมือในโครงการ “ปีแห่งความปลอดภัยไซเบอร์” ในครั้งนี้ เป็นการรวบรวมพลังของทุกภาคส่วน โดยใช้โมเดล 3 แกนหลัก คือ Educate (การเรียนรู้) เพื่อสร้างความตระหนักรู้และทักษะความปลอดภัยไซเบอร์ให้กับผู้ใช้งานทุกคนใน Ecosystem เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นทาง Collaborate (ความร่วมมือ) ทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันส่งต่อข้อมูลและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในสังคม Motivate (การขับเคลื่อน) สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎระเบียบ หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้ประเทศไทยเป็นสังคมดิจิทัลที่ปลอดภัยอย่างยั่งยืน

“ขอขอบคุณทุกภาคส่วนที่มาร่วมกันในภารกิจสำคัญในวันนี้ เราเชื่อว่าเมื่อทุกภาคส่วนมีความรู้ ความเข้าใจ และมีเป้าหมายร่วมกัน จะสามารถสร้างสังคมดิจิทัลที่มีคุณภาพและปลอดภัยในทุกมิติได้อย่างแน่นอน เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้ร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างอนาคตที่ปลอดภัยสำหรับคนไทยทุกคน” นายสมชัย กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *