“มนพร” สั่ง วิทยุการบินฯ คุมเข้มรณรงค์ “จุดบั้งไฟปลอดภัย” ช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ ปี 2568 หวั่นกระทบความปลอดภัยทางอากาศ
“มนพร” สั่ง วิทยุการบินฯ คุมเข้มรณรงค์ “จุดบั้งไฟปลอดภัย” ช่วงเทศกาลบุญบั้งไฟ ปี 2568 หวั่นกระทบความปลอดภัยทางอากาศ
กรุงเทพฯ, 12 พฤษภาคม 2568 – นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เร่งดำเนินการสื่อสารและรณรงค์ในประเด็น “จุดบั้งไฟอย่างไรให้ปลอดภัยต่อการบิน” เพื่อสร้างความเข้าใจแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึง มิถุนายน 2568 ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลประเพณีบุญบั้งไฟที่มีการจัดกิจกรรมอย่างกว้างขวางในหลายจังหวัดของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
นางมนพร กล่าวว่า การจัดงานบุญบั้งไฟถือเป็นการส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น อนุรักษ์ประเพณีอันดีงาม และยังช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ รวมถึงการท่องเที่ยวในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยทางการบินเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง จึงจำเป็นต้องเน้นย้ำให้ประชาชนที่ร่วมในประเพณีดังกล่าว ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการจุดบั้งไฟต่อการทำการบินของอากาศยาน
แนวทางสำคัญที่ บวท. ต้องร่วมรณรงค์คือ การขอความร่วมมือให้มีการแจ้งขออนุญาตก่อนจุดบั้งไฟทุกครั้ง ตามแนวทางการปฏิบัติของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือตามประกาศที่ทางจังหวัดกำหนด โดยให้ประสานงานกับหน่วยงานปกครองในพื้นที่ล่วงหน้าก่อนการจัดงาน เพื่อที่ท่าอากาศยานจะได้รับทราบข้อมูล และสามารถนำไปจัดทำเป็นข่าวประกาศนักบิน (Notice To Airmen : NOTAM) ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่นักบินใช้ประกอบการตัดสินใจในการจัดทำแผนการบิน และการทำการบิน รวมถึงเจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศจะนำข้อมูลดังกล่าวไปใช้อำนวยความสะดวกแก่สายการบินในแต่ละเที่ยวบิน เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกเที่ยวบินจะมีความปลอดภัยสูงสุด
ด้าน นายสุรชัย หนูพรหม รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ รักษาการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เปิดเผยเพิ่มเติมว่า จากสถิติการออกประกาศ NOTAM เกี่ยวกับการจุดบั้งไฟในปี 2567 ที่ผ่านมา มีการแจ้งเข้ามาทั้งสิ้นจำนวน 1,747 ครั้ง ซึ่งข้อมูลการแจ้งขออนุญาตล่วงหน้าเช่นนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการบริหารจัดการห้วงอากาศและการจราจรทางอากาศ
จังหวัดที่มีการแจ้งจุดบั้งไฟเข้ามาสูงสุดในปี 2567 ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำพู ขอนแก่น ยโสธร ร้อยเอ็ด และอุบลราชธานี ตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือในระดับหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม นายสุรชัยยอมรับว่า ยังคงมีรายงานจากนักบินพบเห็นบั้งไฟที่ความสูงในระดับที่เครื่องบินโดยสารทำการบินอยู่ คือประมาณ 16,000 – 23,000 ฟุต หรือประมาณ 5-7 กิโลเมตร ในบางพื้นที่ แม้จะมีการแจ้งขออนุญาตแล้วก็ตาม ซึ่งสถานการณ์นี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่ บวท. ต้องเดินหน้าให้ความรู้ ความเข้าใจ และสร้างความตระหนักถึงผลกระทบต่อการบินอย่างต่อเนื่อง
บวท. จึงจะเร่งประสานงานและหาแนวร่วมจากทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันรณรงค์ให้ประชาชนปฏิบัติตามแนวทางการขออนุญาตก่อนจุดบั้งไฟอย่างเคร่งครัด เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยทางการบินในน่านฟ้าไทยควบคู่ไปกับการดำรงรักษาไว้ซึ่งประเพณีอันดีงามตามวิถีชุมชนให้คงอยู่อย่างยั่งยืน