เจ้าของเปิดใจเหตุไฟไหม้โรงงานย่านฉลองกรุง ยันแค่ ‘โกดังเก็บสินค้า’ ไร้สารเคมีอื่น ขอโทษเพื่อนบ้าน พร้อมสู้ดูแล 800 ชีวิต
กรุงเทพฯ – เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2568 เวลา 15.00 น. ที่ศูนย์บัญชาการเหตุบริเวณโรงเรียนลำพะอง เจ้าของโรงงานชาวไทย ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุเพลิงไหม้โรงงานบริเวณซอยฉลองกรุง 55 เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ได้เปิดใจต่อสื่อมวลชนเป็นครั้งแรก
เจ้าของโรงงานกล่าวถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า ขณะนี้ยังไม่ทราบสาเหตุของเพลิงไหม้ที่แน่ชัด ซึ่งต้องรอให้เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐานเข้าตรวจสอบก่อน แต่ยืนยันว่าจุดที่เกิดเหตุเพลิงไหม้นั้น เป็นเพียงโกดังสำหรับเก็บสินค้าสำเร็จรูปที่เตรียมพร้อมส่งให้ลูกค้า ไม่ใช่จุดที่ใช้ในการผลิตหรือทำงานแต่อย่างใด โดยยอมรับว่ามีการเก็บพลาสติกจริง เป็นประเภท HIPS และ ABS ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตเสร็จแล้ว แต่ไม่สามารถระบุจำนวนที่แน่นอนได้
เมื่อถูกสอบถามถึงความเสียหายที่เกิดขึ้น เจ้าของโรงงานระบุว่า ภายในโรงงานได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้ทั้งหมดแล้ว แต่ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวานซึ่งเป็นวันหยุด ทำให้ยังไม่ทราบรายละเอียดเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าหรือกิจกรรมอื่นๆ ที่อาจเกี่ยวข้องก่อนเกิดเหตุ
ในประเด็นเรื่องสารเคมีชนิดอื่น เจ้าของโรงงานยืนยันว่า ไม่มีสารเคมีอื่นนอกเหนือจากพลาสติกที่กล่าวถึง เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงข้อร้องเรียนของชาวบ้านที่ได้กลิ่นทินเนอร์ เจ้าของโรงงานได้ถามกลับว่า “แล้วคุณได้กลิ่นไหม” พร้อมชี้แจงว่ากลิ่นที่ชาวบ้านได้นั้นอาจเป็นกลิ่นที่เกิดจากการเผาไหม้เท่านั้น
เจ้าของโรงงานยังยืนยันด้วยว่า โรงงานแห่งนี้มีการขออนุญาตประกอบกิจการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และเจ้าของเป็นกลุ่มคนไทย อย่างไรก็ตาม เมื่อผู้สื่อข่าวถามต่อว่ามีหุ้นส่วนเป็นชาวไต้หวันหรือไม่ เจ้าของโรงงานตอบว่า “มี”
ในช่วงท้ายของการให้สัมภาษณ์ เจ้าของโรงงานกล่าวด้วยน้ำเสียงแสดงความเสียใจว่า “เหตุการณ์นี้เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่อยากให้เกิดขึ้น สิ่งที่ทำได้คือ กำลังพยายามให้ความร่วมมือกับทุกหน่วยงาน ที่ผ่านมาก็พยายามทำให้ดีที่สุดแล้ว ไม่ทราบว่าจะเป็นแบบนี้ แต่ตอนนี้เราก็ยังมีอีกกว่า 800 ชีวิตที่ต้องดูแล ยืนยันวิกฤตครั้งนี้เราจะสู้ต่อไป และต้องขอโทษเพื่อนบ้านด้วย แต่เราจะพยายามเยียวยาให้ดีที่สุด”
นับเป็นอีกหนึ่งบทสะท้อนจากผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันนี้ ซึ่งต้องจับตาดูการสอบสวนหาสาเหตุและมาตรการเยียวยาต่อไป