ค่าครองชีพพุ่ง รายได้ไม่ตาม! ‘วิโรจน์ ตั้งเจริญ’ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินฯ แนะวิธีรับมือยุคไม่แน่นอน

ในยุคที่โลกและเศรษฐกิจมีความผันผวนสูงอย่างไม่เคยมีมาก่อน จากปัจจัยต่างๆ เช่น ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่นำไปสู่มาตรการภาษีตอบโต้ระหว่างประเทศ ส่งผลกระทบโดยตรงต่อซัพพลายเชน ต้นทุนการผลิต และท้ายที่สุดคือราคาของสินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย ขณะที่รายได้ของหลายคนกลับไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นตาม ทำให้เกิดคำถามว่า เราจะบริหารจัดการชีวิตและการเงินอย่างไรในสภาวะเช่นนี้

ประเด็นนี้ถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่ทำให้การบรรลุเป้าหมายทางการเงิน หรือแม้แต่การบริหารจัดการชีวิตประจำวันเป็นไปได้ยากลำบาก จำเป็นต้องหันมาพึ่งพาคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ อย่าง คุณวิโรจน์ ตั้งเจริญ นายกสมาคมนักวางแผนการเงินไทย ผู้คร่ำหวอดในวงการวางแผนการเงินมากว่าสองทศวรรษ

ควรเริ่มวางแผนการเงินเมื่อไหร่?

คุณวิโรจน์เน้นย้ำว่า การวางแผนการเงินต้องเริ่มต้นทันทีที่มีรายได้ ไม่ใช่รอให้รวยก่อน เพราะทุกแง่มุมของชีวิตล้วนเกี่ยวข้องกับเงินในกระเป๋า ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายตั้งแต่เกิดจนถึงบั้นปลายชีวิต ทั้งค่าทำคลอด ค่าเทอมการศึกษา การซื้อบ้าน ซื้อรถ การแต่งงาน การเลี้ยงดูบุตร และที่สำคัญคือการเตรียมเงินสำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ นอกจากนี้ยังมีความไม่แน่นอนอื่นๆ ในชีวิต เช่น ความเจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือความไม่มั่นคงในการงานและธุรกิจ ซึ่งล้วนต้องใช้เงินทั้งสิ้น

ข้อมูลจากดัชนีราคาที่อยู่อาศัยและที่ดินของธนาคารแห่งประเทศไทยย้อนหลัง 10 ปี ชี้ให้เห็นว่าราคาที่อยู่อาศัยซึ่งเป็นปัจจัยสี่ได้ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยถึง 28-46% ในช่วงที่ผ่านมา สะท้อนว่าค่าใช้จ่ายพื้นฐานในชีวิตก็แพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“เพราะเงินที่เรามีนั้นมีจำกัด ดังนั้นทุกคนที่มีรายได้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องวางแผนทางการเงิน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ สร้างความมั่นคงในชีวิต นำไปสู่อิสรภาพทางการเงิน และมีความมั่งคั่งมั่นคง สามารถใช้ชีวิตในยามเกษียณได้อย่างมีคุณภาพ นักวางแผนการเงินมีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษาและช่วยสร้างแผนที่นำทาง (Roadmap) เพื่อให้เราไปถึงเป้าหมายทางการเงินในแต่ละช่วงเวลาของชีวิตได้” คุณวิโรจน์กล่าว

การวางแผนการเงินในอดีต vs ปัจจุบัน ต่างกันอย่างไร?

โลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทั้งจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การเปลี่ยนแปลงทางภูมิรัฐศาสตร์ และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น ทำให้ความมั่นคงของรายได้ไม่ได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะอาชีพที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายการค้า บริษัทอาจมีกำไรน้อยลง ส่งผลกระทบต่อเงินเดือนหรือโบนัสที่อาจไม่ได้เพิ่มขึ้นเท่าที่ควร

ในสถานการณ์เช่นนี้ ทั้งมนุษย์เงินเดือนและอาชีพอิสระต้อง “ตั้งการ์ดทางการเงิน” ให้สูงขึ้น ดูแลเรื่องรายได้ให้ดีกว่าเดิม ต้องขยันมากขึ้น พยายาม “กอดงานให้แน่น” และที่สำคัญคือต้องสร้างทักษะเสริมเพื่อเพิ่มรายได้จากช่องทางที่ 2, 3, 4

ค่าครองชีพพุ่งแรงแซงรายได้ ควรบริหารอย่างไร?

เมื่อเศรษฐกิจไทยชะลอตัว แต่ค่าครองชีพกลับพุ่งสูงขึ้น ทั้งราคาอาหาร ของใช้จำเป็น น้ำมัน หรือค่าขนส่ง ในขณะที่เงินเดือนไม่ขยับตาม สิ่งที่เราทำได้คือพยายามไม่ให้รายได้ลดลง และจัดการรายจ่ายอย่างเข้มงวด ตัดรายจ่ายที่ไม่จำเป็นออกไป และหัวใจสำคัญคือ “ห้ามสร้างหนี้ใหม่ถ้าไม่จำเป็น”

“ก่อนจะเดินเข้าไปขอกู้เงิน ขอให้คิดให้รอบคอบว่า หนี้ก้อนนั้นจะเป็นประโยชน์กับเราจริง และสามารถสร้างรายได้ให้ในอนาคตได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้สร้างรายได้ หรือเป็นแค่ความสุขชั่วครู่ ให้มองไปในระยะยาว ว่าเราจะใช้เงินก้อนไหนดูแลชีวิตยามเกษียณ” คุณวิโรจน์กล่าวเตือน ดังนั้น ใครที่กำลังคิดจะก่อหนี้ก้อนใหญ่ ควร “เลื่อนไปก่อน” เพราะเราไม่รู้ว่าสถานการณ์ความไม่แน่นอนนี้จะกินเวลานานแค่ไหน

สิ่งสำคัญที่สุดอีกประการคือ การมีเงินสำรองฉุกเฉิน เพื่อเป็น “เกราะป้องกันชีวิต” โดยเฉพาะในยุคที่รายได้ไม่แน่นอน

“เราเคยแนะนำว่าควรมีเงินสำรอง 3-6 เดือนก็เพียงพอ แต่สถานการณ์วันนี้ ขอให้เริ่มต้นที่ 6 เดือนเป็นขั้นต่ำ และบางอาชีพควรมีสำรองถึง 12 เดือน” โดยเฉพาะกลุ่มที่ควรมีสำรองมากกว่าคนอื่น ได้แก่ อาชีพอิสระ และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งล้วนได้รับบทเรียนครั้งใหญ่จากสถานการณ์โควิด-19

สิ่งที่ท้าทายที่สุดในการวางแผนการออมคืออะไร?

คุณวิโรจน์มองว่า สิ่งที่ท้าทายที่สุดคือ การเคลียร์หนี้สินให้หมดก่อน แล้วจึงเริ่มออม เพราะคนไทยจำนวนมากยังไม่สามารถเริ่มเก็บออมได้ เนื่องจากยังติดภาระหนี้สิน ดังนั้น ขั้นตอนแรกที่ต้องทำคือการจัดการหนี้ดอกเบี้ยสูง โดยเฉพาะหนี้บัตรเครดิตที่มีดอกเบี้ยสูงถึง 16% หากจ่ายเพียงขั้นต่ำ ภาระดอกเบี้ยจะยิ่งพอกพูน แนวทางคือ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น นำเงินส่วนนั้นมาทยอยจ่ายคืนหนี้ที่มีดอกเบี้ยสูง เมื่อหนี้ก้อนเล็กลง ให้พิจารณารวมหนี้เป็นก้อนเดียวแล้วขอปรับโครงสร้างหนี้กับธนาคาร เมื่อภาระหนี้เบาลง ก็จะสามารถสร้างวินัยทางการเงินเพื่อเริ่มออมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อาชีพที่ต้องระวังเป็นพิเศษในภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอนคือ ผู้ที่กำลังคิดจะลาออกจากงานประจำเพื่อไปเริ่มต้นธุรกิจของตัวเอง ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมากที่จะขาดทุนหรือหมดตัว เพราะตลาดในปัจจุบันมีแต่ “คนขาย” การแข่งขันสูง ดังนั้นจึงต้อง “กอดอาชีพไว้ให้แน่น” และวางแผนอย่างรอบคอบมากๆ ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนแปลงเส้นทาง

ผู้มีรายได้น้อยควรวางแผนการออมอย่างไร?

สำหรับผู้มีรายได้น้อย ควรเริ่มต้นจากความเข้าใจในการลงทุน โดยเน้นความปลอดภัยเป็นหลัก ประเทศไทยมีเครื่องมือทางการเงินที่มีความเสี่ยงต่ำที่น่าสนใจ เช่น:

  1. เงินฝากอีเซฟวิ่ง (e-Saving): ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าบัญชีออมทรัพย์ทั่วไป ปัจจุบันบางธนาคารให้ดอกเบี้ยถึง 1.5% ขึ้นไป
  2. สลากออมทรัพย์: เช่น สลากออมสิน สลาก ธ.ก.ส. หรือ สลาก ธอส. นอกจากจะได้ดอกเบี้ยแล้ว ยังได้ลุ้นรางวัลทุกเดือนเหมือนซื้อลอตเตอรี่ แต่เงินต้นไม่หายไปไหน
  3. กองทุนรวมตลาดเงิน/ตราสารหนี้ระยะสั้น: ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยประมาณ 1.7%-2% เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเริ่มต้นลงทุนแบบปลอดภัยและสภาพคล่องสูง

ทองคำใช่เซฟเฮเว่นจริงหรือ?

ทองคำถูกมองว่าเป็นแหล่งพักเงินในภาวะเศรษฐกิจไม่แน่นอน แต่ไม่ได้หมายความว่าราคาทองจะไม่ตก คุณวิโรจน์มองว่าทองคำเป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือการลงทุน ดังนั้นคำแนะนำสำหรับผู้ที่ยังไม่เคยลงทุนในทองคำ คือควรมีไว้ไม่เกิน 5% ของพอร์ตการลงทุนทั้งหมด หากมีทองคำอยู่แล้ว อาจเพิ่มสัดส่วนได้แต่ไม่ควรเกิน 15% และต้องติดตามสถานการณ์โลกอย่างใกล้ชิด เพราะความเคลื่อนไหวของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีผลโดยตรงต่อราคาทองคำ

ในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูง คุณวิโรจน์แนะนำเพิ่มเติมว่า หากยังไม่พร้อมซื้อบ้าน ให้พิจารณาเช่าอยู่ไปก่อน ส่วนรถยนต์ก็ยังไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ให้ใช้คันเดิม หรือหันมาใช้บริการรถสาธารณะ ซึ่งประหยัดค่าใช้จ่ายและมีความคล่องตัวมากกว่ามาก

คำแนะนำพิเศษสำหรับมนุษย์เงินเดือน

จากบทเรียนในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา รวมถึงสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งตอกย้ำถึงความสำคัญของการสำรองเงินเผื่อฉุกเฉิน หลักการพื้นฐานสำหรับมนุษย์เงินเดือนคือ ควรสำรองเงินไว้เท่ากับค่าใช้จ่ายจำเป็น 6 เดือน ในขณะที่กลุ่มฟรีแลนซ์หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ควรสำรองไว้ถึง 12 เดือนของค่าใช้จ่ายส่วนตัว แม้สถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ การมีเงินสำรองฉุกเฉินก็ยังคงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง

สรุปได้ว่า ผู้มีรายได้ทุกคนจำเป็นต้องวางแผนการเงินตั้งแต่เนิ่นๆ โดยไม่ต้องรอให้รวยก่อน การวางแผนที่ดีจะช่วยให้สามารถรับมือกับความผันผวนของเศรษฐกิจ ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความไม่แน่นอนในชีวิตได้ ลดรายจ่ายที่ไม่จำเป็น เพิ่มเงินสำรอง และสามารถนำเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนต่อยอดชีวิตได้อย่างมั่นคง พร้อมก้าวไปสู่อิสรภาพทางการเงินและคุณภาพชีวิตที่ดีในอนาคต

ปัจจัยด้านมหภาค เช่น นโยบายภาษีนำเข้าสินค้าของสหรัฐฯ ที่สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ได้ส่งผลให้เกิดความผันผวนในตลาดการลงทุนทั้งตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ การจัดพอร์ตการลงทุนแบบกระจายความเสี่ยงในหลากหลายสินทรัพย์ (Asset Allocation) จึงเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้

โลกเปลี่ยน เราก็ต้องปรับตัว การเริ่มต้นวางแผนการเงินตั้งแต่มีรายได้ จะช่วยให้คุณพร้อมรับทุกสถานการณ์

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *