เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีฯ เสด็จฯ อยุธยา ทอดพระเนตร-ส่งเสริมผ้าไทยและหัตถกรรมภาคกลาง

พระนครศรีอยุธยา – สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทย และงานหัตถกรรมชุมชน ภาคกลาง ซึ่งจัดโดยกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ณ สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถกรรมไทย (องค์การมหาชน) อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา

การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ นับเป็นพื้นที่ดำเนินการจุดสุดท้ายของการขับเคลื่อนโครงการสำคัญของกรมการพัฒนาชุมชน เพื่อมุ่งเน้นการเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มช่องทางการตลาดให้กับกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ผ้าไทย รวมถึงงานหัตถกรรมชุมชนในพื้นที่ภาคกลางโดยเฉพาะ

โอกาสนี้ คณะบุคคลสำคัญจากภาครัฐและภาคีเครือข่าย ได้เฝ้ารับเสด็จอย่างพร้อมเพรียง อาทิ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วยภริยา, นส.ธนนนท์ นิรามิษ ที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ สมาคมแม่บ้านมหาดไทย, นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์, นายทรงศักดิ์ ทองศรี และ นส.ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายชาดา ไทยเศรษฐ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี, นายอรรษิษฐ์ สัมพันธรัตน์ ปลัดกระทรวงมหาดไทย และ นางจิณณารัชช์ สัมพันธรัตน์ นายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย

นอกจากนี้ ยังมีนายสยาม ศิริมงคล อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน, นางอรจิรา ศิริมงคล อุปนายกสมาคมแม่บ้านมหาดไทยและประธานชมรมแม่บ้านพัฒนาชุมชน, นายนิวัฒน์ รุ่งสาคร ผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ นางวัชราภรณ์ รุ่งสาคร ประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัดพระนครศรีอยุธยา รวมถึงผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงมหาดไทย, ผู้ว่าราชการจังหวัดภาคกลางและภาคตะวันออก, ข้าราชการ, สมาชิกสมาคมแม่บ้านมหาดไทย, คณะที่ปรึกษาโครงการ “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” ตลอดจนนิสิต นักศึกษา และผู้ประกอบการจากจังหวัดต่างๆ เข้าร่วมรับเสด็จ

เมื่อเสด็จเข้าสู่ห้องประชุมแพรวา สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ทรงพระดำเนินไปทอดพระเนตรนิทรรศการและการจัดแสดงผลงานภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชนจาก 15 จังหวัด รวม 30 กลุ่ม ทั้งกลุ่มผู้ผลิต ผู้ประกอบการ OTOP และกลุ่มสมาชิกโครงการศิลปาชีพ ประเภทผ้าและหัตถกรรม อาทิ ผลิตภัณฑ์เพ้นท์ดีบาติกจากชลบุรี, กลุ่มหัตถกรรมผักตบชวาจากชัยนาท, กลุ่มทอผ้าจากตราด, เครื่องเบญจรงค์จากนครปฐม, เครื่องถมจากนนทบุรี, ผลิตภัณฑ์จากปทุมธานี, กลุ่มโขมพัสตร์จากประจวบคีรีขันธ์, ผลิตภัณฑ์ไม้ป่าน้ำเค็มจากเพชรบุรี, กลุ่มจักสานตะกร้าหวายจากพระนครศรีอยุธยา, ผลิตภัณฑ์บายศรีจากราชบุรี, เปลือกไข่วิจิตรศิลป์จากสมุทรปราการ, เครื่องเบญจรงค์จากสมุทรสาคร, งานปักจากสระบุรี, ผ้าด้นมือจากสุพรรณบุรี และกลุ่มจักสานจากอ่างทอง

ในการนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ได้พระราชทานคำแนะนำอันทรงคุณค่าแก่กลุ่มผู้ผลิตและผู้ประกอบการโดยตรง เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีความทันสมัย ตอบสนองความต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าและสร้างความเข้มแข็งให้กับเศรษฐกิจฐานรากของชุมชน

นอกจากนี้ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ยังทรงโปรดให้ผู้เชี่ยวชาญด้านผ้า งานหัตถกรรม และงานแฟชั่นชั้นนำของประเทศ ร่วมให้คำปรึกษาและคำแนะนำอย่างใกล้ชิดแก่กลุ่มทอผ้าและงานหัตถศิลป์ เพื่อช่วยยกระดับคุณภาพและดีไซน์ของผลิตภัณฑ์ให้ทัดเทียมสากล

ก่อนเสด็จกลับ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอฯ ได้ทอดพระเนตรการแสดงศิลปวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่น่าสนใจ เริ่มจากชุดระบำวีรชัยลิง หรือระบำวีรชัยสิบแปดมงกุฏ โดยกลุ่มนักศึกษาสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ กระทรวงวัฒนธรรม ซึ่งเป็นการจัดกระบวนทัพของฝ่ายลิงเพื่อออกทำศึกสงครามในรูปแบบนาฏศิลป์โขน ท่าเต้นแสดงถึงความเข้มแข็ง คล่องแคล่ว ว่องไว และความพร้อมเพรียงของพลทหารวานร 18 นาย

ต่อด้วยการแสดงแตรวงชาวบ้านจากคณะ ศ. บันเทิงศิลป์ ซึ่งเป็นการบรรเลงดนตรีประกอบการรำ และปิดท้ายด้วยการละเล่นพื้นบ้าน อาทิ กระตั้วแทงเสือ การละเล่นที่สะท้อนวิถีชีวิตและประเพณีท้องถิ่น ซึ่งนิยมแสดงในงานประเพณีหรืองานรื่นเริงของคนไทยมาตั้งแต่อดีต

การเสด็จพระราชดำเนินและพระราชทานคำแนะนำในครั้งนี้ ถือเป็นกำลังใจอันสำคัญยิ่งแก่ผู้ประกอบการและช่างฝีมือในพื้นที่ภาคกลาง ในการอนุรักษ์ พัฒนา และต่อยอดภูมิปัญญาผ้าไทยและงานหัตถกรรมชุมชน ให้คงอยู่คู่สังคมไทยและสามารถก้าวสู่ตลาดสากลได้อย่างยั่งยืน

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *