สสจ.ระยอง แจงข้อเท็จจริงเคสหนุ่มถูกงูกัด รพ.วังจันทร์ ยันทำตามแนวทาง นัดตรวจซ้ำก่อนพบอาการ
สสจ.ระยอง แจงข้อเท็จจริงเคสหนุ่มถูกงูกัด รพ.วังจันทร์ ยันทำตามแนวทาง นัดตรวจซ้ำก่อนพบอาการ
จากกรณีที่มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผู้ป่วยถูกงูพิษกัด แต่โรงพยาบาลให้เพียงยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวดและให้ผู้ป่วยกลับบ้าน จนรุ่งเช้ามีอาการทรุด ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระยอง (สสจ.ระยอง) ได้ออกมาชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจที่ถูกต้อง
นายแพทย์สุรวิทย์ ศักดานุภาพ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดระยอง เปิดเผยเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2568 ว่า จากการตรวจสอบข้อมูลกับนายแพทย์ภัทรนนท์ บุณยอุดมศาสตร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลวังจันทร์ พบว่า การเสนอข่าวคลาดเคลื่อนจากข้อเท็จจริง และอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดต่อการทำงานของโรงพยาบาลอย่างมาก
นพ.สุรวิทย์ กล่าวชี้แจงรายละเอียดว่า ผู้ป่วยชายอายุ 18 ปี รายนี้ ได้เดินทางเข้ารับบริการที่ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลวังจันทร์ ในวันที่ 7 พฤษภาคม 2568 เวลา 02.20 น. ผู้ป่วยให้ประวัติว่าถูกงูกัดเมื่อเวลา 01.40 น. โดยไม่ทราบชนิดของงู
เมื่อแพทย์ทำการตรวจร่างกายเบื้องต้น พบรอยแผลถลอกที่บริเวณนิ้วก้อยมือขวา ไม่พบอาการบวม หรืออาการแสดงของพิษงูทางระบบประสาทและระบบเลือด ซึ่งเป็นอาการสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง แพทย์ได้ดำเนินการตรวจวัดสมรรถภาพการหายใจและตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติที่อาจเกิดจากพิษงู ตามแนวทางการดูแลรักษาผู้ป่วยถูกงูพิษกัดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขอย่างครบถ้วน
ผลการตรวจทั้งหมดในครั้งแรกปกติ แพทย์จึงให้ผู้ป่วยนอนสังเกตอาการอยู่ที่ห้องฉุกเฉินเป็นเวลาประมาณ 2 ชั่วโมง จนถึงเวลา 04.15 น. ซึ่งตลอดระยะเวลาดังกล่าว ยังไม่พบอาการผิดปกติใดๆ แพทย์จึงพิจารณาให้ยาปฏิชีวนะและยาแก้ปวด พร้อมทั้งอนุญาตให้ผู้ป่วยกลับบ้านได้
อย่างไรก็ตาม ไม่ได้เป็นการปล่อยผู้ป่วยกลับบ้านโดยไม่มีการติดตาม แต่โรงพยาบาลได้มีการนัดหมายให้ผู้ป่วยกลับมาพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินอีกครั้งในช่วงเช้าวันเดียวกัน เพื่อติดตามอาการและทำการตรวจเลือดเพื่อดูความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นจากพิษงูอีกครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีอาการแทรกซ้อนเกิดขึ้น
ต่อมาในช่วงเช้า มารดาผู้ป่วยสังเกตเห็นว่าผู้ป่วยมีอาการหนังตาตก กลืนลำบาก และดูซึมลง จึงได้รีบพาผู้ป่วยกลับมายังโรงพยาบาลวังจันทร์อีกครั้งในเวลา 08.14 น. เมื่อมาถึง ผู้ป่วยยังคงสามารถพูดคุยได้ และแจ้งว่าเริ่มมีอาการปากชา ลิ้นชา ตั้งแต่เวลาประมาณ 06.00 น.
แพทย์ได้ทำการตรวจร่างกายซ้ำ พบว่าสมรรถภาพการหายใจยังคงปกติ ความเข้มข้นของออกซิเจนในเลือดปกติ แต่มีอาการหนังตาตก ซึ่งเป็นอาการแสดงที่ชัดเจนของพิษงูที่มีผลต่อระบบประสาท
จากอาการที่ปรากฏ แพทย์จึงวินิจฉัยทันทีว่า ผู้ป่วยถูกงูที่มีพิษทางระบบประสาทกัด และได้ดำเนินการใส่ท่อช่วยหายใจทันที เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อที่ใช้ในการหายใจอ่อนแรง พร้อมทั้งประสานงานเพื่อส่งตัวผู้ป่วยต่อไปยังโรงพยาบาลระยอง ซึ่งเป็นโรงพยาบาลแม่ข่าย เพื่อให้ได้รับการรักษาด้วยเซรุ่มต้านพิษงูและเข้ารับการดูแลอย่างใกล้ชิดในหอผู้ป่วยวิกฤต (ICU)
ล่าสุด เมื่อคืนที่ผ่านมา (วันที่ 7 พฤษภาคม ต่อเนื่องเช้าวันที่ 8) โรงพยาบาลระยองได้ให้เซรุ่มต้านพิษงูทางระบบประสาทแก่ผู้ป่วยแล้ว 1 โดส อาการล่าสุดเช้าวันนี้ (8 พฤษภาคม 2568) ผู้ป่วยมีสัญญาณชีพปกติ แต่ยังคงใส่ท่อช่วยหายใจและอยู่ในการดูแลของแพทย์อย่างใกล้ชิดในห้องไอซียูของโรงพยาบาลระยอง
นพ.สุรวิทย์ ยืนยันว่า โรงพยาบาลวังจันทร์ได้ดำเนินการตามแนวทางการรักษาพยาบาลผู้ป่วยถูกงูพิษกัดอย่างถูกต้องในทุกขั้นตอน โดยมีการตรวจประเมินอาการอย่างละเอียดในครั้งแรก เฝ้าระวัง และนัดหมายให้มาติดตามอาการซ้ำ พร้อมทั้งจะมีการสื่อสารทำความเข้าใจกับญาติและนายจ้างของผู้ป่วยต่อไป เพื่อให้ทราบข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วน