ประกันสังคมเร่งเยียวยาเหยื่อตึก สตง.ถล่ม จ่ายแล้วกว่า 67 ล้านบาท ‘พิพัฒน์’ ยันดูแลทุกเคส
ประกันสังคมเร่งเยียวยาเหยื่อตึก สตง.ถล่ม จ่ายแล้วกว่า 67 ล้านบาท ‘พิพัฒน์’ ยันดูแลทุกเคส
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยความคืบหน้าการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาแรงงานและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) แห่งใหม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้าง เกิดเหตุถล่มลงมาขณะเกิดเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยท่านรัฐมนตรีได้รับรายงานสรุปยอดผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวในภาพรวมทั่วประเทศ ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2568 ว่า มีจังหวัดได้รับผลกระทบ 23 จังหวัด มีสถานประกอบกิจการได้รับผลกระทบ 198 แห่ง
ในส่วนของการจ่ายสิทธิประโยชน์จากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในภาพรวมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวทั่วประเทศนั้น ได้มีการจ่ายไปแล้วจำนวน 96 ราย รวมเป็นเงินกว่า 72,403,599 บาท ซึ่งแบ่งเป็นค่าทำศพ 3,500,000 บาท เงินทดแทนกรณีเสียชีวิตกว่า 67,512,816 บาท และเงินบำเหน็จชราภาพ 2,253,228 บาท
สำหรับเหตุการณ์เฉพาะที่เกี่ยวข้องกับอาคาร สตง. ถล่มนั้น ท่านรัฐมนตรีพิพัฒน์ กล่าวว่า มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้รวม 89 ราย โดยในจำนวนนี้ สามารถยืนยันอัตลักษณ์บุคคลได้แล้ว 70 ราย แบ่งเป็นคนไทย 51 ราย และคนต่างชาติ 17 ราย นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 8 ราย และยังคงมีผู้สูญหายอีก 12 ราย
ในส่วนของการเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคมที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ตึก สตง. ถล่มโดยตรงนั้น ได้มีการจ่ายสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ได้รับผลกระทบไปแล้วจำนวน 65 ราย คิดเป็นจำนวนเงินกว่า 67,563,332 บาท ขณะที่ยอดประชาชนที่ได้ติดต่อขอความช่วยเหลือและสอบถามข้อมูลผ่านสายด่วน 1506 ของกระทรวงแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 685 ราย
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานกล่าวยืนยันในตอนท้ายว่า สำหรับแรงงานหรือประชาชนที่ประสบเหตุในครั้งนี้ เมื่อได้รับการพิสูจน์อัตลักษณ์แล้ว ครอบครัวหรือทายาทของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บทุกคน จะได้รับการดูแลเยียวยาจากสำนักงานประกันสังคมตามสิทธิอย่างเต็มที่ โดยในเบื้องต้นจะได้รับเป็นค่าทำศพจำนวน 50,000 บาท และเงินทดแทนหรือเงินอื่นๆ ตามสิทธิของผู้ประกันตน ขอให้ญาติผู้สูญเสียและผู้บาดเจ็บทุกคนสบายใจได้ว่า สำนักงานประกันสังคมจะให้การดูแลอย่างทั่วถึง
นอกจากนี้ ท่านรัฐมนตรียังได้เน้นย้ำถึงกรณีนายจ้างบางรายที่อาจไม่ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนลูกจ้างเป็นผู้ประกันตนตามกฎหมายว่า หากตรวจสอบพบ จะมีการดำเนินการตามบทบัญญัติของกฎหมายอย่างเด็ดขาด เพื่อให้มั่นใจว่าสิทธิของแรงงานทุกคนจะได้รับการคุ้มครอง